“ธีระชัย”เสนอ 5 ขั้นตอนการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยเหลือประชาชน

10 ต.ค. 2564 | 09:10 น.

“ธีระชัย”เสนอ 5 ขั้นตอนการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยประชาชน “เลิกอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงค์โปร-เลิกจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมัน-เลิกจ่ายเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน-ลดค่าการตลาดไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร ก่อนลดภาษีสรรพสามิตให้สอดคล้องกับนโยบายศก.

วันนี้(10 ต.ค.64) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala เสนอขั้นตอนการลดราคาน้ำมันเพื่อช่วยประชาชน จำนวน 5 ข้อ ประกอบด้วย

 

1. เลิกการอ้างอิงราคาหน้าโรงกลั่นสิงค์โปร พร้อมทั้งกำหนดเพดานอัตรากำไรเบื้องต้น (ให้คงเพดานไว้ตราบใดที่กลุ่ม ปตท. ยังควบคุมกำลังการกลั่นน้ำมันในไทยสูงกว่า 25%)

 

2. เลิกการจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

3.เลิกการจ่ายเงินเข้ากองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

 

4.ลดเพดานค่าการตลาดเหลือไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร

 

5.เมื่อได้ดำเนินการตาม 1-5 ครบถ้วนแล้ว จึงสมควรจะพิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ

 

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 5 ต.ค.64 นายธีระชัย ก็ได้โพสต์เรื่อง “บริหารพลังงานถูกต้อง แต่ไม่ถูกใจ?” ระบุว่า

 

มีผู้สื่อข่าวสอบถามว่าการแก้ปัญหาราคาน้ำมันที่ถูกต้อง ควรจะใช้กองทุนน้ำมันแทรกแซง ดังที่พรรคเพื่อไทยเสนอ และมีข่าวว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจคิดอยู่ หรือไม่?

 

ทีมงานของเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) บอกว่า นโยบายพลังงานที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ที่ไม่เอื้อนายทุนผู้ถือหุ้นทั้งคนไทยและต่างชาติ ต้องเป็นดังนี้

 

1. ยกเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงค์โปรบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้า

 

มาตรการนี้จะแก้ไขหลักการผิด ที่ใช้สมมุติฐานเสมือนว่าโรงกลั่นในไทยตั้งอยู่ในสิงค์โปร์ แล้วบวกค่าใช้จ่ายเทียมโดยสมมติว่านำเข้า อันเป็นนโยบายที่อุ้มให้โรงกลั่นในไทยได้กำไรเกินควร จึงควรรื้อไม่ให้มี “เสือนอนกิน” (เป็นเช่นนี้มานานแล้ว)

 

2. ยกเลิกการนำไบโอดีเซลและเอทานอลไทยที่กำหนดราคาสูงกว่าตลาดโลกที่เอามาผสมกับน้ำมัน

 

มาตรการนี้ จะรื้อนโยบายของรัฐที่ไปอุ้มราคาเชื้อเพลิงพืช แต่ชดเชยเงินกองทุนน้ำมันให้แก่โรงกลั่น(ไม่ใช่ให้แก่เกษตรกร) ซึ่งสร้างกำไรให้ธุรกิจโรงกลั่นอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

 

เมื่อราคาเชื้อเพลิงพืชยิ่งสูง ยิ่งเอามาผสมกับน้ำมัน ประชาชนก็ยิ่งเดือดร้อน จึงควรรื้อนโยบายที่อุ้ม “จระเข้ขวางคลอง”

3. กำหนดเพดานสูงสุดของค่าการตลาดไม่ให้เกิน 1.5 บาท (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.5-5 บาท) และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการฮั้วราคาขายโดยไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี

 

มาตรการนี้ จะแก้ปัญหาในจุดที่ว่า นโยบายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา การแข่งขันในธุรกิจพลังงานในไทยไม่เสรีเท่าที่ควร

 

4. กำหนดให้ประกาศราคาน้ำมันขายปลีกทุกๆ วันจันทร์ โดยใช้ค่าเฉลี่ยย้อนหลังในวันทำการของสัปดาห์ก่อนหน้าไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้ราคาไม่ผันผวนเกินไป

 

มาตรการนี้ จะช่วยทำให้ราคาขายปลีกขึ้นลงอย่างเนิบนาบ เปิดช่องหายใจให้แก่ประชาชน แต่ในขณะเดียวกัน จะช่วยปิดช่องทางที่บริษัทน้ำมันจะบวกกำไรเกินควร

 

5. ยกเลิกกองทุนน้ำมัน พร้อมทั้งรื้อนโยบายราคาก็าซหุงต้ม LPG ดังนี้

 

5.1 ยกเลิกอ้างอิงราคาก็าซหุงต้ม LPG สำหรับครัวเรือนกับราคาตลาดโลกที่บวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้าจากซาอุฯ เพราะก็าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน 100% ผลิตได้มาจากโรงแยกก๊าซในประเทศ

 

5.2 ประกาศเพดานราคาก็าซหุงต้ม LPG สำหรับครัวเรือนที่เหมาะสมเพราะผลิตได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ เพื่อมิให้บริษัทผูกขาดธุรกิจนี้สามารถบวกกำไรได้มากเกินไป

 

5.3 กำหนดให้ราคา LPG ที่ขายแก่ธุรกิจปิโตรเคมีต้องอ้างอิงราคาตลาดโลก (ไม่ใช้ราคาซื้อขายกันเองระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกในราคาต่ำกว่าตลาดโลกมาก)

 

มาตรการนี้ เป็นการยอมรับหลักการว่า ก๊าซ LPG เป็นพลังงานจำเป็นในครัวเรือน ซึ่งประเทศไทยผลิตได้เองในประเทศและมีการกำหนดราคาขายที่เป็นธรรมมาตลอด

 

แต่เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ ในฐานะประธาน กพช.กลับยกเลิกเพดานราคาที่รัฐบาลต่างๆ จากการเลือกตั้งก่อนหน้าได้กำหนดไว้

 

รัฐบาลนี้กลับเปลี่ยนไปอ้างอิงราคาตลาดโลก บวกค่าใช้จ่ายเทียมในการนำเข้าจากซาอุฯ

 

นโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ดังกล่าว จึงเป็นการเฉือนเนื้อประชาชนคนไทยทั้งชาติ ไปปรนเปรอบริษัทผูกขาด ซึ่งเป็น “เสือนอนกิน” และจำเป็นต้องแก้ไขเป็นการด่วน

 

และที่ผ่านมาก็แก้ไขผลกระทบ โดยเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปช่วยตรึงราคาก๊าซ LPG (ดูรูป) เดือน ก.ย.ต้องใช้ถึง 1.7 หมื่นล้านบาท

 

พล.อ.ประยุทธ์ คงจะไม่เข้าใจกลไกราคาทะลุปรุโปร่ง เพราะออกข่าวชื่มชมตนเองที่ไม่ได้ยกเลิกกองทุนน้ำมันตามที่มีข้าราชการเสนอ

 

แต่หารู้ไม่ว่า การเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปอุดหนุนก๊าซ LPG ก็คือ รีดเงินจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง ไปช่วยประชาชนอีกกลุ่มหนึ่ง

 

จึงเป็นการแก้ปัญหาแบบ “โจรปล้นคนจน” ไม่ยอมกลับไปรื้อนโยบายที่ผิด ที่อุ้มนายทุนผู้ถือหุ้นทั้งคนไทยและคนต่างชาติ

 

6. ต่อเมื่อได้ดำเนินการทั้งหมดแล้ว จึงให้พิจารณาลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราว

 

หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการ เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ