"บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ 8 ปี ‘ได้-ไม่ได้’ ศาลรธน.คือผู้ชี้ขาด

29 ก.ย. 2564 | 07:18 น.

"บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ 8 ปี ‘ได้-ไม่ได้’ ศาลรธน.คือผู้ชี้ขาด : รายงาน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,718 หน้า 10 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม 2564

กลายเป็นประเด็นให้เกิดข้อถกเถียงกันขึ้นมาในทางการเมือง หลัง “ฝ่ายค้าน” เดินเกมหวังสกัดไม่ให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็น “นายกรัฐมนตรี” อีกสมัย 

 

ดั่งที่ นายสุทิน คลังแสง ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน) ออกมาระบุว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรค 4 ระบุ “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

 

นายสุทิน ระบุว่า หากนับการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2557 จะครบ 8 ปี ในปี 2565 แต่อาจมีพวกศรีธนญชัย ตีความว่ารัฐธรรมนูญไม่มีผลบังคับย้อนหลัง คือ ให้นับการดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งจะครบ 8 ปี ในปี 2567 

 

ล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ออกมาระบุถึง กรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ยืนยันว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เข้าเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4 ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง” เนื่องจากการนับอายุดำรงตำแหน่ง เริ่มขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้ ไม่นับตั้งแต่ก่อการรัฐประหาร การตีความของ นายวิษณุ และ นายอุดม จึงเป็นการตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย เพื่อเอาใจผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะพิจารณาถึงข้อกฎหมาย 

 

นอกจากนี้ การพูดเช่นนี้เป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ ทำตัวเป็นศาลรัฐธรรมนูญเสียเอง ดังนั้นในส่วนของพรรคฝ่ายค้านจะมีการยื่นตีความคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างแน่นอน ว่าขัดกันซึ่งผลประโยชน์หรือไม่ ส่วนกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลออกโจมตีฝ่ายค้านในกรณีดังกล่าว เป็นเพียงต้องการเกาะอำนาจเท่านั้น เพราะถ้าผล ออกมาว่าประยุทธ์ หลุดตำแหน่งก็จะหลุดตามไปด้วย

 

"บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ 8 ปี ‘ได้-ไม่ได้’ ศาลรธน.คือผู้ชี้ขาด

 

 

ด้าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค และประธานคณะกฎหมายพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุว่า ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนกำหนดยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาล ว่าให้นับตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องใช้วิธีการตีความพิจารณารัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง คือ 

 

มาตรา 158 วรรค 4 นายกฯ จะดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปี 

 

มาตรา 170 เหตุให้รัฐมนตรีสิ้นสุดลงก็จะมีวรรค 2 คือ นายกฯ พ้นจากตำแหน่งเมื่อครบ 8 ปี 

 

และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ซึ่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้เป็นครม.ตามรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งมีสาระของ มาตรา 264 ที่ยกเว้นมาตรา 170 ไว้ บางข้อต้องนำมาพิจารณาประกอบกับ เจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรค 4   

 

“ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญตรงส่วนบทเฉพาะกาล ไม่ได้เขียนไว้ชัดเจนว่าจะให้นับตั้งแต่เมื่อไหร่ จึงต้องตีความเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญประกอบด้วยแต่ส่วนตัวไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้นที่มีอำนาจวินิจฉัย” นายไพบูลย์ ระบุ

 

ก่อนหน้านี้ นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาให้ความเห็นว่า นายกฯ ที่มาจากรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นการเสนอชื่อโดยกระบวนการตั้งแต่ประชาชน ดังนั้น ไม่เกี่ยวกับการเป็นนายกฯ รักษาการ หรือ เป็นนายกฯ ตามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงไม่สามารถตีความอย่างที่พูดถึงกันอยู่ได้ ไม่อย่างนั้นคนที่เคยเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญอื่นก็ไม่เกี่ยว เขามีโอกาสมาเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญนี้ เช่น นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้กระทั่ง นายทักษิณ ชินวัตร เคยเป็นนายกฯ แล้ว ไม่ได้แปลว่าหมดสิทธิ์เป็น เราไม่ได้ไปกีด กั้นคนเหล่านี้

 

“ตอนนี้มีการไปนับว่า พล.อ. ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อจากตอนเป็น คสช. ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย เขาเป็นมาก่อนรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 จะเป็นต่อเนื่องได้ไม่เกิน 8 ปี หรือเป็นตามวาระเว้นไปหรือมาต่อ เพราะถ้าตามรัฐธรรมนูญนี้ เขาจะเป็นได้ไม่เกิน 8 ปี หรือไม่ต่อเนื่องก็นับระยะเวลาตามตำแหน่งจริงๆ ก็ไม่เกิน 8 ปี”

 

นี่คือสิ่งที่รัฐธรรมนูญนี้เขียนไว้ ไม่ใช่ว่าจะนับตั้งแต่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแต่ต้องเป็นตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยังไปตีความกันอีกว่า พอมีรัฐธรรมนูญปี 2560 พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกฯ อยู่แล้วก็นับระยะเวลาไปด้วย อย่าลืมว่าตอนนั้นเขาไม่ได้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 แต่นั่นเขาเป็นนายกฯ ตามบทเฉพาะกาล

 

“ถ้ามีคนทักท้วงก็ต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แต่ปัญหาคือ เรื่องยังไม่เกิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นต่อหรือไม่ แต่ถ้าเรื่องเกิดขึ้นแล้ว อาจมีคนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก็เป็นได้ ซึ่งการตีความตามที่พูดกันอยู่นั้น ถือ เป็นเรื่องการเมืองที่ตีความหน้าไซไปว่า ใครจะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องรู้ว่ามีคนบอกว่าเป็นไม่ได้ และอาจจะดักคอไว้ก่อนว่า ถ้าใครจะไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต้องรู้ข้อนี้ด้วย แต่จะเป็นได้หรือไม่ได้ ไม่ได้อยู่ที่พรรคเพื่อไทย มาบอก แต่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นคนบอกเอง” นายอุดมระบุ

 

ส่วนที่ฝ่ายค้านหยิบเรื่องนี้มาเป็นประเด็น นายอุดม กล่าวว่า ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา เพราะอยากให้รัฐบาลมีอายุสั้นลงเท่านั้น

สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ เลือกตั้งกันมา เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 ครบเทอม 4 ปี วันที่ 23 มี.ค. 2566 

 

หากสภาผู้แทนฯ ชุดนี้อยู่ครบเทอม เมื่อสิ้นสุดลงก็ต้องเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน และหากพรรคพลังประชารัฐ รวบรวมได้เสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล โดยเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดท นายกฯ อีก “บิ๊กตู่” ก็จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย ยาวไป ถึง 8 มิ.ย. 2570 โน้นเลย

 

ปมคุณสมบัตินายกฯ 8 ปี ของ “บิ๊กตู่” คงจะมีการถกเถียงกันไปอีกนานจนกว่า “ศาลรัฐธรรมนูญ” จะเป็นผู้ชี้ขาดออกมา ...ว่าแต่ว่า “เหตุยังไม่เกิด” ส่งไปตีความตอนนี้ ศาลก็คงไม่รับเรื่องไว้พิจารณาเท่านั้นเอง