การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

02 ก.ย. 2564 | 11:43 น.

ร้อนฉ่ายิ่งกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในสภาฯ เวลานี้ เห็นจะเป็นความขัดแย้ง ขั้นรุนแรงในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล “พลังประชารัฐ” ที่เสียงแตกออกเป็นสองฝ่าย กลายเป็นการ “เปิดหน้าชก” แบบไม่ต้องงุบงิบ โดยมีตำแหน่งเป็นเดิมพัน

รายการ Nation Insight โดย บากบั่น บุญเลิศ และ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร สองบ.ก.- ผู้ดำเนินรายการคนดังจากค่าย เนชั่น กรุ๊ป วิเคราะห์เจาะลึกให้เห็นกันอย่างกระจะกระจ่างว่า เกมเปิดหน้าชก ในครั้งนี้ เปิดเกมซัดกันอย่างไร และจะทะลุไปถึงไหน ที่สำคัญขาดไม่ได้คือ สรุปปิดท้ายที่ว่า แล้วคนไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง

 

 “เปิดหน้าชก” ไม่ยั้ง พลังประชารัฐเสียงแตก

สืบเนื่องจาก ศึกอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคล ซึ่งมีความเคลื่อนไหวที่จะโหวตคว่ำนายกรัฐมนตรีตั้งแต่นอกสภา ปรากฎการณ์ไม่เห็นกันบ่อยนักเกิดขึ้นที่พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นฝ่ายค้าน ประกาศชัดว่า ใครโหวตสวนมติพรรค จะถูกขับออกทันใด  แต่ถ้าหันไปมองทางฟากฝั่ง “พลังประชารัฐ” (พปชร.) พรรคใหญ่แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกลับร้อนแรงยิ่งกว่า เพราะสมาชิกเสียงแตกเป็นสองฝ่าย มีทั้งฝ่ายสนับสนุนและไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี ที่ peak ไปกว่าครั้งไหน ๆ คือ เป็นครั้งแรกที่พรรคเปิดโอกาสให้ส.ส.มีอภิสิทธิ์ในการโหวต ซึ่งไม่ใช่เพียงระดับรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเปิดให้โหวตทะลุขึ้นไปได้ถึงนายกรัฐมนตรี จึงเรียกได้ว่าเป็นเกมเปิดหน้าชก ที่มีตัวละครสำคัญ 2 คน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม กับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)   

การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

ประเด็นน่าสนใจคือ นายกรัฐมนตรีพูดชัดในสิ่งที่ไม่เคยได้ยินกันมาก่อน หนึ่งในประเด็นที่สะท้อนความแตกร้าวคือ พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวที่ว่าจะมีการโหวตล้มนายกฯ(จากส.ส.ฟากฝั่งพปชร.) ว่า ถ้าเป็นเรื่องจริง ก็ถือว่าไม่เป็นสุภาพบุรุษ และเวลานี้ก็ไม่ใช่เวลาที่จะมาทำอะไรอย่างนั้น จะทำไปเพื่ออะไร

 

“ผมเข้ามา ผมก็มาทำงานร้อยเปอร์เซ็นต์”  เรื่องที่สองที่มีการปล่อยข่าวว่า นายกฯจะยุบสภา ทำให้ทุกคนตื่นตระหนกกันไปหมด นายกฯ ย้ำว่าไม่ทำแน่นอนเพราะมีผลสั่นสะเทือนไปทุกภาคส่วน เรื่องที่สามหนักสุด  มีการปล่อยข่าวแอบอ้างสถาบันฯ นายกรัฐมนตรียืนยันว่าเป็นเรื่องแอบอ้างทั้งสิ้น “แอบอ้างเบื้องสูงนี่เป็นความผิดร้ายแรงนะ ผมคนเดียวเท่านั้นที่มีโอกาสถวายข้อราชการ คนอื่นไม่มี”

การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

จากกรณีดังกล่าวเรียกได้ว่าเป็นการเปิดหน้าชกจริง ๆ ไม่เคยมีการส่งสัญญาณชัด ๆแบบนี้มาก่อน และเป็นการเปิดประเด็นในเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองในสองสามเรื่องจากปากของนายกรัฐมนตรีเอง แสดงว่าความขัดแย้งในการทำงานและการแอบอ้างนั้น นายกฯ รับทราบเต็มสองหู เห็นได้ชัดว่านายกฯตั้งใจจะให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือพูดไปตามอารมณ์ และนั่นก็แสดงว่าเรื่องมันต้องร้อนฉ่าที่สุดแล้ว

 

ส่วนผู้เกี่ยวข้องอีกฝ่ายหนึ่งที่กลายมาเป็นคู่กรณีของนายกฯ ไปโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นจริงหรือไม่จริง ยังไม่รู้ คือ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้ที่กระแสข่าวระบุว่า กำลังพยายาม “เขย่าต้นมะม่วง” เพื่อที่จะไปนั่งตำแหน่งรมว.กระทรวงมหาดไทย จริงหรือไม่นั้น ยังไม่แน่ แต่ข่าวระบุว่า ร้อยเอกธรรมนัสและทีมงาน เคลื่อนไหวเรื่องนี้เพื่อกดดันนายกฯ ให้ปล่อยเก้าอี้และเปิดทางให้ส.ส.ของพรรคได้ทำงานเพื่อนำไปสู่การลงเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งคงไม่มีวิธีไหนจะสร้างและแสดงผลงานได้ดีไปกว่าการได้ครองเก้าอี้รัฐมนตรี

การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

เมื่อกลับจากการปฏิบัติภารกิจที่อยุธยาเมื่อเร็ว ๆนี้  ก็มีภาพ ร.อ.ธรรมนัสปรากฏตัวร่วมเฟรมกับบรรดาตัวแทนพรรคเล็กพรรคน้อย และเมื่อถูกถามเกี่ยวกับกรณีขัดแย้งกับนายกฯ ร.อ.ธรรมนัสโบ้ยให้ไปถามคนเต้าข่าวว่าต้องการอะไรกันแน่

 

“คนเต้าข่าวนี้ไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านนะครับ พรรคฝ่ายรัฐบาลนี่แหละ ไอ้ห้อยไอ้โหนทั้งหลาย ชอบเลียแข้งเลียขา สำเหนียกซะมั่งครับ ผมรู้หมดแล้วครับ ระวังเถอะ เดี๋ยวเจอกัน” จากท่าทางของร.อ.ธรรมนัส เห็นได้ชัดว่ามีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ มีการระบุถึง “ไอ้ห้อยไอ้โหน” คนใกล้ชิดนายกฯเป็นคนปล่อยข่าว

 

ตกลงว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเต้าข่าว (กุข่าว-ปั้นข่าว) หรือเรื่องจริง? ที่ไหนมีควัน ที่นั่นก็มีไฟ กระบวนการขัดแย้งทางความคิด ความแตกโพล๊ะภายในพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นเรื่องจริง เกมการเปิดหน้าชกแบบนี้ สะท้อนสเถียรภาพ-ความมั่นคงของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

 

วัดกำลังภายในพรรค ใครอยู่ฝ่ายไหน  

เกมการอภิปรายในสภาของพรรคฝ่ายค้านที่ว่าร้อนแรงแล้ว ยังไม่ร้อนเท่ากับเกมภายในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี รอบนี้ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกที่เราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานและนำไปสู่เรื่องหนึ่งคือ “แชตลับ”

 

ก่อนอื่นเรามาดูไทม์ไลน์เรื่องโหวตล้มนายกฯ และข่าวการยุบสภา ที่มีมาตั้งแต่วันศุกร์ (27 ส.ค.) เมื่อมีข่าวออกมาแบบนี้ ก็ต้องมีไลน์เพื่อแชตไปถาม “พี่ใหญ่” หรือ “บิ๊กป้อม” พลเอกประวิตร วงษ์สุสรรณ โดย “น้องเล็ก” ซึ่งก็คือนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ โดย “น้องเล็ก” ถามว่า

“ทำไม่ส.ส.ถึงไม่สนับสนุนผม”

“มีเหตุผลอะไร ผมผิดอะไร”

“แล้วถ้าไม่สนับสนุนผม จะหาใครมาเป็นนายกรัฐมนตรี”   

“ผมทำงานเหนื่อยขนาดนี้ แล้วจะให้ใครมาเป็น”   

การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

แชตลับ เหล่านี้กลายมาเป็นข้อความในการซักถามบรรดาสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดย “พี่ใหญ่” ซึ่งในฐานะหัวหน้าพรรค มีการประชุมพรรคเมื่อวันจันทร์ (30 ส.ค.) ก็เอาคำถามเหล่านี้ของนายกฯ ไปบอกกล่าวกับที่ประชุม มีการเอ่ยชื่อคนที่เกี่ยวข้อง 3 คน และเป็นผู้ที่ไม่สนับสนุนนายกรัฐมนตรี หนึ่ง คือร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า สองคือวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และสาม มือขวาของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า คือ ไผ่ ลิกค์  กรรมการบริหารของพปชร.

 

ไม่เพียงเท่านั้น บิ๊กป้อม ในฐานะพี่ใหญ่และผู้นำพรรค ยังกำชับกับสมาชิกพรรคว่า ศึกอภิปรายครั้งนี้เป็นฟรีโหวตก็ใช่ แต่ขออย่าแตกแถว และให้โหวตแก่บรรดารัฐมนตรีเท่า ๆกัน นอกจากนี้ ยังห้ามจ่ายค่าตอบแทนให้พรรคเล็กช่วยโหวต เรื่องราวแบบนี้ไม่เคยมีปรากฏมาก่อน สิ่งที่เกิดขึ้น จึงถือว่าไม่ธรรมดา

 

กระแสข่าวก่อนวันศุกร์ (27 ส.ค.) คือ มีข่าวออกมาว่า บรรดาส.ส.ของพรรคเกิดอาการ “น้อยใจ” ที่นายกฯไม่เข้ามาดูแล หลาย ๆ คนเลยออกมาในแนวไม่เอานายกฯ ไม่พอใจ และต้องการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และต้องการนำเสนอผลงานของตนเอง ซึ่งวิธีการนำเสนอที่ดีที่สุด ก็คือ การก้าวไปสู่อำนาจในฐานะรัฐมนตรี โดยมีตำแหน่งรัฐมนตรีที่มุ่งหมาย ได้แก่ กระทรวงแรงงาน , ดีอีเอส, ศึกษาธิการ และมหาดไทย ที่ตอนนี้เป็นเก้าอี้ของ “พี่คนกลาง” หรือ “บิ๊กป๊อก” พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา

 

ลือกันหนักว่า โควตากระทรวงมหาดไทยควรได้กลับคืนมาสู่พรรคพลังประชารัฐ (จากปัจจุบันเป็นโควตาของนายกฯ หรือที่เรียกว่า “โควตากลาง”) ในขณะนี้ โควตารัฐมนตรีของพรรคมี 7-8 ตำแหน่ง และมีโควตาของนายกฯ อีก 7 ตำแหน่ง ตำแหน่งเหล่านี้คือเป้าหมายการช่วงชิงและการเข้าถึงอำนาจ นำมาซึ่งเกม “เปิดหน้าชก” ที่เห็นกันอยู่ในขณะนี้

 

การที่บิ๊กป้อม “พี่ใหญ่” นำแชตลับมาอ่านในที่ประชุมพรรค ก็ถือเป็นการเปิดหน้าชกให้เห็นชัด ๆ และขณะเดียวกันร้อยเอกธรรมนัส ก็เปิดหน้าชกให้เห็นเช่นกัน โดยการคุยกับบรรดาพรรคเล็กและฝ่ายค้านให้เห็นทั้งในที่ลับและที่แจ้งในรัฐสภา

 

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ตามมา คือการเจรจาหารือท่ามกลางบรรยากาศที่ออกมาบอกว่ามีการ “แจกกล้วย”...รหัสลับเป็นที่รู้กันถึงผลตอบแทนของการออกเสียงโหวต มีการพูดถึงว่า วันที่ 4 ก.ย.นี้ จะโหวตเดือดมาก ตอนนี้ “ราคากล้วย” ขยับสูง และเสียงโหวตก็เปรียบได้กับ “เสียงทองคำ” ค่าสูง ถึงตอนนี้ “พี่ใหญ่” อย่างบิ๊กป้อม ถึงกับต้องออกมากำชับสมาชิกพรรค “ห้ามแจกกล้วย-ห้ามนำกล้วยไปแจกพรรคเล็ก และโหวตเมื่อไหร่ก็ให้เสียงเท่า ๆกัน” แต่เอาเข้าจริง สิ่งที่กำชับไว้อาจไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่าราคาโหวตที่สูงขึ้น ๆ ถึงกับเรียกกันว่า “โหวตทองคำ” ไปแล้ว  

 

วัดกำลังกันว่า ในพรรคพลังประชารัฐนั้น ใครอยู่ฝั่งไหน  

ฝั่งสนับสนุนนายกฯ ประกอบด้วย

  • กลุ่มสามมิตร มีประมาณ 20 เสียง
  • กลุ่มดาวฤกษ์ประมาณ 6 เสียง (แกนนำติดต่อเข้าไปเรียบร้อยแล้วว่าพร้อมสนับสนุนนายกฯ เต็มที่X
  • กลุ่มพล.อ.อนุพงษ์ กลุ่มนี้เป็น “เสือซุ่ม” ต้องจับตาดูกันให้ดี ๆ นี่คือเสาค้ำยันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  เต็มกำลังที่สุด ในขณะนี้ มีกี่เสียง ไม่รู้ รู้แต่ว่าเดินเกมหนักหน่วงที่สุด
  • กลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น มีประมาณ 15- 19 เสียง
  • กลุ่มตรีนุช(สระแก้ว) เข้มแข็งร่วมกันกับกลุ่มรวมพลังประชาชาติไทยของลุงกำนัน
  • กลุ่มคุณปลื้ม(ชลบุรี) แน่นอนที่สุดนายกฯอยู่ไหน กลุ่มคุณปลื้มอยู่ที่นั่น
  • กลุ่มนิโรธ สุนทรเลขา (10 เสียง) กำลังเดินทางเช็คเสียงอยู่ทางภาคเหนือ
  • พรรคท้องถิ่นไทยประมาณ 5 เสียง 
  • พรรคชาติไทยพัฒนา
  • รวมพลังประชาชาติไทย (พรรคลุงกำนัน ไม่ต้องพูดถึงเรื่องความแน่นแฟ้นกับนายกฯ)

 

ฝั่ง ร.อ.ธรรมนัส

มีเสียงสนับสนุนจากส.ส.กลุ่มภาคใต้ 12-13 เสียง กลุ่มภาคเหนือบางส่วน (15 เสียงบุญสิงห์) กลุ่มภาคอิสาน (กว่า 8 เสียง เอกราช ช่างเหลา คุมดูแลอยู่) กทม.บางส่วน และพรรคเล็ก (10-12 เสียง) ด้วยเหตุนี้ อำนาจในมือนายกฯอาจผันแปรได้ตลอดเวลา เพราะอำนาจโหวตอยู่ในมือส.ส.

 

ฝั่งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

แต่ที่สำคัญ คือกลุ่มตัวแปรชี้ขาดอยู่ที่ “พี่ใหญ่” ในฐานะหัวหน้าพรรค เสียงสนับสนุนในฝั่งบิ๊กป้อมประกอบด้วยกลุ่มเสธ อ. และกลุ่มส.ส.สมุทรปราการ กลุ่มส.ส.ตะวันตก ตั้งแต่นครปฐมลงไป และกลุ่มส.ส.สิระ เจนจาคะ กลุ่มภาคใต้บางส่วน และพรรคเศรษฐกิจใหม่  

การเมืองร้อนฉ่า “เกมชกเปิดหน้า” โหวตล้มนายกฯ

ข้อเสนอที่เป็นประโยชน์กับประชาชนคืออะไร

ถ้าสถานการณ์และเกมการเมืองเป็นแบบนี้ ทางออกที่ดี ที่ 2 บ.ก.ขอเสนอแนะก็คือ

1.ถือโอกาสปรับครม.ครั้งใหญ่ไปเลย โดยจัดคนที่เหมาะสม-ตอบโจทย์แก้ไขสถานการณ์โควิด-19

กล้าตัดสินใจ เขย่าโควตา รมต.พรรคร่วม ตัดอุปสรรคขัดขวางการแก้ปัญหาให้กับรัฐบาล อาจจะดึงคนนอกมือดีมาทำงาน จัดใหม่ครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างเสถียรภาพใหม่ให้รัฐบาล

2.เชือดคนแอบอ้างเบื้องสูง

3. ไม่เอาเรื่องคดีความ มาเป็นอำนาจต่อรองกับคนบางกลุมเพื่อสร้างเสถียรภาพของตนเอง

4.กล้าเปลี่ยนวิธีคิด วิธีทำงาน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางของการแก้ปัญหา

5.เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นประโยชน์กับส่วนรวม

 

สถานการณ์ขณะนี้ ในแง่เกมการเมือง การต่อสู้อาจจะดุเดือด แต่ประเทศไทยต้องเดินต่อไปข้างหน้า คงต้องรอดูหลังการอภิปรายฯว่า สถานการณ์การเมืองของประเทศไทยจะเป็นไปอย่างไร นายกฯ ลุงตู่จะแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ ชวนติดตามเป็นอย่างยิ่ง     

 

คลิกชมรายการ