ฝ่ายค้านโจมตีรัฐเทขายสต็อกยางชาติเสียหายกว่า 8 หมื่นล้าน

31 ส.ค. 2564 | 11:47 น.

“ทวี สอดส่อง” เปิดอภิปราย เดือด เปิด มติ ครม.ซ่อนกล แปลงสาร ใช้ จ้างวาน กยท. เทขายสต๊อกยางแสนตัน ส่อฮั้วประมูล ประเมินชาติเสียหายกว่า 8 หมื่นล้าน ระบุหลังขายยางทุบราคาร่วง 10 บาท/กก. ยังโงหัวไม่ขึ้น จะส่ง ป.ป.ช.เช็กบิลต่อ

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ได้มาอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ได้เสนอไปแล้วนั้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  มีตำแหน่งประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)นั้น

 

โดยนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็มีอีกตำแหน่งเป็นรองประธาน กนย. ซึ่งทั้งสองคน นั้น ผมมีข้อมูลน่าเชื่อได้ว่าได้ร่วมกันกระทำผิดกฎหมายเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติโดยประพฤติมิชอบ และโดยทุจริต ร่วมกันบงการใช้จ้างวานหรือยุยงส่งเสริม ให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กระทำผิดการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกว่า “ฮั้วประมูล” ไม่ชอบโดยกฎหมาย ผิดรัฐธรรมนูญ วินัยการเงินการคลัง ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ประจักษ์ และที่สำคัญก็คือฝ่าฝืนไม่ปฎิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง

 

การกระทำผิดเริ่ม 14 กันยายน  2563 จนมาเป็นความผิดสำเร็จ เมื่อวันที่ 28  เมษายน 2564 โดยบุคคลทั้งสองได้นำยางในสต๊อกของรัฐบาลที่มีจำนวน 1.04 แสนตันเศษ นำออกไประบาย หรือ ฮั๊วประมูล ซึ่งยางดังกล่าวเป็นยางที่เกิดจากใน 2 โครงการ ก็คือ 1. โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง กว่า 5 หมื่นตัน  และ 2.โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง จำนวนกว่า 5.1 หมื่นตัน ในสองโครงการนี้มีหนี้สินหรือต้องชำระหนี้ ให้กับ ธ.ก.ส. 9,955 ล้านบาท

 

ราคาฮั้วประมูล

 

แต่การบงการคือการใช้คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็คือ การให้นำยางดังกล่าวไปขายในราคาเพียง กก.ละ 37.27 บาท ขณะที่ราคายางในขณะนั้น ประมาณ 65.87 บาท/กก. ซึ่งมีความต่างกันเกือบ 30 บาท ดังนั้นจึงเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับรัฐบาล เกิดความเสียหายกับระบบธุรกิจ และที่สำคัญเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงกับเกษตรกรชาวสวนยางที่มีประมาณ 1.7 ล้านราย และมีพื้นที่ปลูกยางประมาณ 21 ล้านไร่

 

สำหรับพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทย มีทั้งหมดกว่า 21.3 ล้านไร่ แบ่งเป็นภาคเหนือ กว่า 1.3 ล้านไร่ ,ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) จำนวน 5.3 ล้านไร่ กลาง 2.2 ล้านไร่ และภาคใต้ 12.4 ล้านไร่  โดยพืชยาง มาจากน้ำยางสด ยางแห้ง ทั้งนี้ยางที่รัฐได้เทขายในสต๊อกผมเคยได้ไปดูด้วยตัวเอง ตรงข้ามเทศบาลหนองใหญ่ ซึ่งจากการเห็นสภาพก็เห็นว่ายางมีคุณภาพดีอยู่ มีทั้ง 17 โกดัง

 

พื้นที่ปลูกยางในประเทศไทย

 

ที่มาของยางใน โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เกิดจากม็อบใหญ่มีการชุมนุม จึงมีการซื้อแบบชี้นำราคาในปี 2555  ส่วนโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง ในปี 2558 รัฐบาล คสช. มีการซื้อชี้นำมากกว่า  61 บาท โดยทั้งสองโครงการนี้ก็อยู่ในโกดัง

 

คำว่า “รักษาเสถียรภาพราคายาง” เป็นเรื่องใหญ่มาก จะทำอย่างไรให้ราคายางในประเทศอยู่ในที่เกษตรกรไม่ขาดทุน และไม่ขึ้นสูงมาก ก็คือการรักษาเสถียรภาพราคายาง โดยปกติแล้วจะต้องมียางอยู่ในสต๊อก ซึ่งจะพาไปดูแผนประทุษกรรมการกระทำผิด แต่อยากจะเรียกว่าแผนประทุษร้ายเกษตรกรชาวสวนยาง  แผนประทุษร้ายเศรษฐกิจในประเทศ

 

"ยางพารา"เป็นพืชเป็นสินค้าเกษตรกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ต่อปี มากกว่าสินค้าข้าวประมาณ 2 เท่า และเป็นสินค้าเดียวมหัศจรรย์คือสามารถให้ผลผลิตเลี้ยงคนได้ตลอดปี อาจจะมีช่วงผลัดประมาณ 2 เดือนแต่ปัจจุบันก็จะมีคนกรีดยาง

อีกทั้งเป็นสินค้ามหัศจรรย์ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณไปช่วยเหลือมากนักเพราะมีเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการส่งออกยางเพื่อใช้สงเคราะห์ชาวสวนยาง หรือเงินเซสส์ มาจ่ายเงินเดือนให้ พนักงาน/ เจ้าหน้าที่ กยท. นี่คือคุณประโยชน์ของยางพารา และเป็นสินค้าที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ แต่วันนี้รัฐบาลกลับไปทำทุจริตเชิงนโยบาย

 

ในองค์กรที่จะก่อเกิดทุจริตเชิงนโยบาย ก็มีองค์กรหนึ่ง ที่เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ” ปกติ นายกรัฐมนตรี จะมอบรองนายกรัฐมนตรีไปนั่ง แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งมาตลอด เป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่นั่งดูแลยางพารา ตลอด 7 ปี อำนาจหน้าที่ในคณะนี้ก็คือ กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ ในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางทั้งระบบดูแลระดับราคาให้เหมาะสม  ส่วนอีกองค์กรหนึ่ง “การยางแห่งประเทศไทย” ได้สถาปนาเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม  2558 เป็นการเป็นควบรวม 3 องค์กร และมีกฎหมาย พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย 2558 มีรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแลตาม พ.ร.บ. เป็นรัฐวิสากิจ

 

จุดเริ่มต้นของการขายยางในสต๊อก 1.04 แสนตัน เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2563  ในทีประชุม กนย. ซึ่ง มี พล.อ.ประยุทธ์ และ คุณเฉลิมชัย นั่งเป็นประธานฯ และรองประธานฯ มีการดำริที่จะพิจารณาการระบายยางในสต็อกตามราคาตลาดและส่วนหนึ่งก็ให้นำไปใช้ในโครงการของรัฐบาล เช่น กรวยยางแท่งแบริเออร์ เป็นต้น ซึ่งในการทุจริตครั้งนี้ ทั้งสองท่านควรจะรู้และไม่ดำเนินการ

 

วันที่ 14 ก.ค.2563 รัฐมนตรีเกษตรฯ และนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งผู้ว่า กยท.คนใหม่เข้ามา ผมยังจำได้ว่าผู้ว่าฯ คนใหม่ได้มาชี้แจงในเรื่องงบประมาณ ท่านก็ยังบอกว่า วันนี้เป็นวันแรกที่ได้รับตำแหน่ง ผมยังถามว่าการรักษาเสถียรภาพราคายางเป็นอย่างไร ท่านก็พูดกว่า มีกว่า 3 แสนตัน ขายไปได้กว่า 2 แสนตัน ขายไปในราคานำตลาด ประมาณโดยเฉลี่ย ราคา 68 บาท/กก.ยังเหลือกว่าแสนตัน วันนั้นพูดด้วยความดีใจว่า กยท.ในอดีต ได้ขายในราคาสูงกว่าตลาด

 

แต่จุดของการนำไปสู่ความหายนะในวงการยางพาราก็คือ ในวันที่ 14 กันยายน 2563  นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็ได้เสนอ ครม.ขออนุมัติดำเนินการระบายยางในสต๊อก ต่อมาในวันที่ 3 พ.ย. 2563 มติ ครม. ยางไม่มีมติขายได้ ยกเว้นมีมติครม.ให้ขายได้ มติครม. มีสถานะไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นองค์กรสูงสุดถ้าข้าราชการให้ปฎิบัติตามหากชอบโดยกฎหมายก็จะมีความผิดทางอาญา ทางการปกครอง

 

ซึ่งการนำยางในสต๊อกเข้า มติ ครม. จะต่างมาจากที่ประชุม กนย. ซึ่ง ในกนย.  ให้ระบายยางในสต๊อกตามราคาตลาด แล้วก็นำไปใช้ส่วนราชการ โดยทั้ง 2 โครงการไม่มต้องการให้นำมาขาย เพราะหากนำยางออกมาขายทีไร ก็จะมีการทุ่มตลาด มติ ครม.ครั้งนี้ ให้เร่งรัดระบายยางให้หมดโดยเร็ว ให้คำนึงถึงเวลา และระดับราคาที่เหมาะสมเพื่อลดภาระงบประมาณและเพื่อผลประโยชน์สูงสุด

 

“สำหรับการเร่งรัดระบายยางให้หมดโดยเร็ว ราคายางมีแต่ดิ่งลง ต้องเก็บไว้ ไม่มีสิทธิ์ที่จะนำมาขายด้วยซ้ำไป จากมุมมองของผม เกษตรกรล้มสลายอีก เพราะรัฐบาลไม่มีความจริงใจ นี่คือความคำสั่ง จ้างวาน โดยใช้มติ ครม.ไปสั่งให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปขาย ซึ่งในมติ ครม. 3 พ.ย. มีการบิดเบือน 

 

คือ ให้เร่งรัดระบายยางให้หมดโดยเร็ว  ซึ่งในการประชุม กนย.ไม่มี ให้หมดโดยเร็ว ให้ดูราคาตลาด และที่สำคัญยิ่งไปสู่การทุจริตคือ ตัดคำว่าราคาตลาดออก และการนำยาวงไปใช้ในส่วนราชการก็ตัดทิ้ง นี่เป็นข้อความที่คิดว่าเป็นคำสั่ง บงการ ใช้จ้างวาน ให้ กยท.ไปดำเนินการ” ซึ่งมติครม.ดังกล่าว ส่อไปทางผิดกฎหมายหลายฉบับ

 

อาทิ ข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทยว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการพาณิชย์ พ.ศ.2561 ข้อ6 ที่ออกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 8 (คุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพประสิทธิผลตรวจสอบได้)

 

“ยางพารา”  ของประเทศไทย ส่งออกไป 85-90% ใช้ในประเทศนิดเดียว คนกำหนดราคาคือโลก ไม่ใช่ประเทศไทย ดังนั้นวิธีการที่จะดำเนินการก็ต้องมีกระบวนการกีดกัน เอารัดเอาเปรียบ ประสงค์ให้มีเพียงบริษัทเดียวเข้ามาทำสัญญาหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม (ฮั้วประมูล) และทุบราคายางให้ต่ำ จึงเกิดการตั้งคณะกรรมการขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 ราคายางดังกล่าว ราคาตลาด 67.84 บาท/กก. ปรากฏว่าการขาย 2 แสนตัน จำนวน 5 ครั้ง ขายในราคาตลาด

 

แต่วันนี้จะตัดราคาตลาดทิ้งจะทำอย่างไร จึงมีการตั้งคณะกรรมการบริหารสต๊อกยาง ผมเรียกว่าคณะกรรมการทุบราคายาง  ในคณะนี้ก็มีการประเมินราคายาง เหลือ 37.01 บาท/กก. และไปตั้งบริษัทผู้ประเมินอิสระ  ซึ่งได้ไปตรวจสอบบริษัทดังกล่าวนี้ไม่ได้มีการรับรองจากตลาดหลักทรัพย์ มีการประเมินราคายาง 33.91 บาท/กก.

 

ท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ จะต้องประชมุวันที่ 1 มิ.ย.2563  ท่านทราบหรือไม่ว่าคุณภาพของราคายางนี้หากจะลดราคาจากราคาตลาด แค่ 0.28 บาท/กก.หรือสูงสุดไม่เกิน 3 บาท วันนี้มาทุบราคาเพื่อให้ลดเพื่ออะไร ต่อมาจึงมีการประกาศการขายยาง ปี2564  ซึ่งเป็นปีที่เป็นมหาวิปโยค ซึ่งเป็นเดือนมหาวิปโยคของคนไทยคือเดือนเมษายน รัฐบาลได้ประกาศให้เป็นวันหยุดหลายวัน

 

แต่กลับมีการประกาศการขายในวันที่ 9 เมษายน ในวันนั้นผมจำได้ว่ามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีประกาศเลยว่าผมรู้นะว่ารัฐมนตรีคนไหนไปเที่ยวทองหล่อ และนายกรัฐมนตรียังมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารทองหล่อ และมีการเซ็นแต่งตั้งคณะทำงารบริหารวัคซีน คนใกล้ชิด และคนในโรงพยาบาลจำนวนมากมาเป็นคณะกรรมการวัคซีนฃ

 

วันที่ 9 เมษายน 2564 มีการประกาศ ที่ทำให้คนทั้งโลกมาประมูลยางไม่ได้ พอประกาศ วันที่ 10-11 เมษายน เป็นวันหยุด แล้วให้เวลาถึง วันที่ 20 เมษายน  ส่วนวันที่ 12-15 เป็นวันหยุด วันที่ 16 เมษายน  มีเวลา 1 วัน ส่วนวันที่ 17-18 เมษายน เป็นวันหยุด  และวันที่ 20 เม.ย.จะต้องยื่น  2 โครงการ แล้วประมูลขาย 17 โกดัง ยางเป็นคนละประเภทมีบัญชีมีทั้งยางแผ่นรมควัน อยู่ 96%  ยางแท่ง กว่า 3 พันตัน  และยางอื่นๆ 293 ตัน ซึ่งยางเกรด1 มีราคายางตลาดโลก การขายคละรวมกันไม่มีการตรวจสอบเหมือนเอาของดีและของไม่ดีมารวมกัน

 

“ยางแผ่นรมควัน” มีความบริสุทธิ์ของยาง 98% ก็เหมือนข้าวสาร หรือข้าวหอมมะลิ ส่วนยางแท่งเอสทีอาร์ ก็เปรียบเป็นข้าวเปลือก และยางอื่นๆ  เป็นข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว แต่เมื่อมารวมกัน กลายเป็นยางเสียหดเลย เพราะ 1.มีกระบวนการทุบราคาให้เหลือครึ่งหนึ่งแล้ว โดยหากย้อนไปดูในอดีต กยท. ขายยางในสต๊อกที่สามารถขายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดเพราะประมูลรายโกดัง แยกเป็นชนิดยาง ไม่มารวมกัน เท่านั้นยังไม่พอ ในทีโออาร์ยังระบุว่าผู้ที่มายื่นในวันที่ 20  เมษายน จะต้องมาแสดงบัญชี 1,000 ล้านบาท วันหยุด มีเวลาว่างวันเดียว และวางหลักประกัน 200 ล้านบาท 

 

“ไม่มีความโปร่งใส  ไม่มีการชี้แจงรายละเอียด ไม่ให้เห็นสินค้า มีลักษณะปิดบังและปิดกั้น จนในที่สุดก็มีการบริษัทเดียวมายื่น เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีเงินในบัญชีมายื่น 1,000 ล้านบาทและวางเงิน 200 ล้านบาทวันที่ 21 เมษายน ก็ประกาศผู้ชนะประมูล จากยาง 67 บาท/กก. ก็เหลือราคา 37.27 บาท/กก. ซึ่งจากราคาดังกล่าวนี้เงินหายไปมาก นี่คือหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน  และวันที่ 28 เมษายน ก็ได้เซ็นสัญญา เป็นกระบวนการทั้งหมดไม่ชอบโดยกฎหมาย มีความไม่เหมาะสมด้านราคา สัญญายาง มีการปิดบังซ่อนเร้น และทำให้ทั้งโลกประนามไทยว่าเป็นผู้ส่งออกยางที่มากที่สุดในโลกกลับเอายางที่ดีที่สุดในโลกมาขายในราคาป่วนไปทั้งโลก”

 

การทุบราคา เงินหายจากกระเป๋าเกษตรกร

ในระหว่างนั้นมีการร้องเรียน มากมาย ซึ่งในความผิดปกติใน พรบ.ฮั้วประมูล จะต้องยกเลิก เพราะผู้ประมูลรายเดียว ที่สำคัญนื่คือ ภาษีอากรของประชาชน  ไม่ใช่มาหากำไร จะต้องให้รักษาเสถียรภาพราคายาง ต้องการจะพัฒนาสถาบันเกษตรกร จะต้องเก็บยางสต๊อกไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ซึ่งยางในสต๊อก แบ่งเป็น ยางแผ่นรมควัน 100,717 ตัน   ยางแท่ง และยางอื่นกว่า 4  พันตัน

 

ในวันที่ขายยาง ยางแผ่นรมควัน ราคาตลาดอยู่ที่ 64.04 บาท/กก. ส่วนราคาขี้ยางอยู่ที่ 47.20 บาท แต่ปรากฏว่าเอายางแผ่นรมควัน ซึ่งเป็นยางบริสุทธิ์กว่า 98% มาขายที่ 37.27 บาท ราคาตลาดหายไปกว่า 3,000 ล้านบาท ไปไหน แล้วมาอ้างยางเสื่อม วันที่ 1 มิ.ย. ยังบอกเลยว่าลดราคาได้สูงสุด 3 บาท/กก.จากราคาตลาด บริษัทนี้เคยมาประมูลยาง 3 ครั้ง ใน 3 โกดังเป็นยางใน 2 โครงการรัฐบาล  ราคาประมูลยาง 69 บาท/กก. ไม่ใช่ไม่รู้

 

แต่มติ ครม.ไปขัดกับพ.ร.บฮั้วฯ ทั้งคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลยุติธรรม ผมถือว่ามติครม.นี้เป็นจุดเสี่ยง  นี่คือให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น จากพฤติกรรมดังกล่าว ทำให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ทำการทุจริตในเชิงนโยบาย มติครม.เป็นนโยบาย ก็ไปขัดกับมติ ครม.เดิม ขัดกฎหมายอื่น ในกรณีที่นำยางออกมาเทขาย  ผลเสียหายจากการทุบราคายาง 84,793 ล้านบาท

 

โดยแบ่งเป็น กยท. จะต้องขอให้รัฐชดเชยการขาดทุน 6,051 ล้านบาท ไม่สามารถรักษาเสถียรภาพราคาไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม และเอื้อประโยชน์นายทุนทุบราคาได้ แต่ดันราคาขึ้นไม่ได้ เพราะราคาที่ขายเป็นราคาที่โลกช็อกกลับนำสต๊อกมาทำลายสต๊อกยางของประชาชน จะเห็นความเห็นความเจ็บปวด ผลผลิตจากยางธรรมชาติของไทยปีละ 4.5 ล้านตัน

 

เสียจากการทุบราคายาง โดย กยท.

 

แต่ก่อนขายยาง ผู้ว่า กยท.บอกว่า ยางจะวิ่ง 80 บาท/กก. ในสถานการณ์โควิด “ยางพารา” เป็นสินค้าตัวเดียวที่สู้โควิดได้ ต้องมีการนำยางไปผลิตถุงมือยาง ในบางประเทศไม่ใช้รถสาธารณะจะต้องใช้รถของตัวเองยางก็พุ่ง ทุกคนมาวาดภาพจะเห็นราคายางวิ่งไปที่ 100 บาท/กก. แต่ปรากฎว่า ไปทุบราคายาง ราคายางลดลงจากวันที่ขาย เฉลี่ยเดือนพฤษภาคม  10 บาท/กก. ขณะที่ทิศทางยางกำลังวิ่งขึ้นสูง ความเสียหาย 45,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้มีผลเสียหายต่อชาวสวนยางรายย่อย ครัวเรือนละ 25,272 บาท 80% มีไม่เกิน 10 ไร่  (10 ไร่x240 กก.x10.53 บาท) ซึ่งจากราคายางตกลงมา 10 บาท/กก. เหมือนไปปล้นเงินพี่น้องเกษตรกรทั้งประเทศ ส่วน แล้วหากคำนวณออกมาเป็นชาวสวนรายย่อย จำนวน 1.34 ล้านราย ความเสียหาย 33,742 ล้านบาท

 

วันนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นคนทุบราคายาง ทำไมต้องทุบกันถึงขนาดนี้ ที่สำคัญเรื่องการโกงพี่น้องเกษตรกรจากการขายยาง “โกงรัฐ โกงระบบธุรกิจ โกงประชาชนกรีดยาง โกงต้นยาง"  และเรื่องนี้จะไปส่งที่ ป.ป.ช. และนี่จึงเป็นที่มาของการไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์