เปิดใจ “บอร์ด กยท.” โละสต๊อกขายยาง

18 พ.ค. 2564 | 11:10 น.

ปิดมหากาพย์ ขายยาง 1.04 แสนตัน 3 บอร์ด เกษตรกร เปิดใจ ทำไม ยกมือสนับสนุนเทขาย ให้ “นอร์ทอีส รับเบอร์”

เป็นเรื่องทอล์กออฟเดอะทาวน์ วงการยางพารา แม้ว่า การยางแห่งประเทศไทย  หรือ กยท. จะขายยางสต็อกรัฐบาลที่มีมานานกว่า 9 ปี ให้กับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) ไปเรียบร้อยแล้ว ชาวสวนทั้งประเทศ หลายคนอยากจะฟังจากปาก บอร์ดเกษตรกร ที่นั่งเป็นตัวแทน ทำไมถึงยกมือสนับสนุนให้ขายยางสต็อก 1.04 แสนตัน แบบโละสต๊อก ทั้งหมด

สังข์เวิน ทวดห้อย

 

เริ่มจากนายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย  (บอร์ดเกษตรกร 2 สมัยซ้อน) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ก่อนที่จะมีมติขายยางให้กับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)  เป็นเรื่องของสัญญาประกันภัย เช่าโกดัง จะสิ้นสุดลง 31 พ.ค.นี้ สัญญานี้ กยท. ผูกผันมา 9 ปีแล้ว ที่จะจ่ายในแต่ละปีกว่า 100 ล้านบาท รวมแล้วก็เป็นกว่า 1,000 ล้านบาท ถ้าหาก กยท.ไม่มีการขายยางในล็อตนี้ จะต้องนำเงินของ กยท. ไปจ่ายตรงนี้อีก

 

“ส่วนยางในสต็อกหากปล่อยไว้ ก็จะยิ่งเกิดปัญหาว่า ยกตัวอย่างขายได้ในราคา เท่านี้หาก ขายในปีหน้า เชื่อว่าราคาอาจจะลดต่ำลงกว่านี้ จากที่อาจจะขายได้กว่า 4 พันล้านบาท ปีหน้าราคาก็อาจจะปรับลดหายไปกว่า 1 พันล้านบาท ในภาวะตอนนี้ หากคุณสามารถทำเรื่องขายได้ ให้คุณทำเสร็จก่อนที่เกษตรกรจะเปิดกรีดยาง แล้วขณะนี้ภาคตะวันออกก็เพิ่งจะเริ่มกรีดยาง คาดว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาง”

 

นายสังข์เวิน กล่าวในตอนท้ายว่า ยางในสต็อก เป็นหอกข้างแคร่มาโดยตลอด เวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะมาอ้างว่า ยางในสต็อกล้น ทำให้ดีมานด์-ซัพพลายไม่สมดุลกัน เพราะฉะนั้นในสิ่งที่ เราระบายไป เราต้องทน อยากเรียนกับพี่น้องเกษตรกรว่า เรายอมเจ็บครั้งนี้แค่ครั้งเดียว แต่อนาคตต่อไปข้างหน้านั้นเราจะดีขึ้น เชี่อมั่นว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ไทยจะสอดคล้องกับความต้องการยางทั้งโลก 13 ล้านตัน ประกอบกับในพื้นที่ยางลดลงสถานะตอนนี้ก็มีแต่โค่นยางปลูกยางเท่านั้น ส่วนการสงเคราะห์ขอปลูกยางในพื้นที่ใหม่ ก็ยังมีไม่มากนัก คาดว่าปริมาณยางจะคงที่ ต่อไปจะได้ทราบชัดเจนว่า เมื่อหมดยางก้อนนี้ไปแล้วพ่อค้าจะมีอะไรมาเป็นข้ออ้างอีกหรือไม่

 

“เราก้เฝ้ารอมาเป็น 10 ปีแล้ว สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น บอร์ดผู้บริหารเองก็ต้องยอมรับว่า ยอมเจ็บแค่ครั้งนี้ครั้งเดียว แล้วต่อไปจะดี แล้วให้มาดูข้างหน้าว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าขายอย่างไรก็ขาดทุน แต่ถ้าแลกหลังจากขายไปแล้ว ราคายางปรับขึ้นมา 3 บาท/กิโลกรัม ตลอด  1 ปี เทียบแล้วคุ้มมากกว่าที่เสียหายไป 3,000 ล้านบาท

 

สง่า ขันคำ

 

เช่นเดียวกับ นายสง่า  ขันคำ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การยางแห่งประเทศไทย หรือบอร์ด เกษตรกร (ผู้แทนสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง) กล่าวว่า สาเหตุที่มีมติให้ขายกับ บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน)  คาดว่าหากมียางเปิดใหม่จะไม่กระทบกับราคาที่เกษตรกรจะขายได้ จะไม่กระทบกับสต็อกยางอีกต่อไปแล้ว มองว่าตราบใดหากยังมียางในสต็อกอยู่ แล้วพ่อค้าใช้เป็นเครื่องมืออ้างในการกดราคา โน้นนี่นั้น

 

อยากฝากถึงชาวสวนยางทั่วประเทศที่กำลังจะเปิดหน้ายางใหม่ ต่อไปนี้ไม่ต้องพะวงว่ายางที่มีอยู่ในสต็อกจะเป็นปัญหาในเรื่องของการกดราคา และราคายางผันผวน หรือปล่อยไปตามกระแสของตลาด ก็ให้ชาวสวนกรีดยางใหม่ พัฒนาปรับปรุงคุณภาพยางให้สู่มาตรฐาน GAP  และ FSC เพื่อที่จะทำให้ยางมีราคาที่เสถียรภาพขึ้น

 

อรอนงค์ อรินวงค์

 

เช่นเดียวกับ นางสาวอรอนงค์ อรินวงค์ บอร์ดหญิง 1 เดียวของ กรรมการ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า  เห็นด้วยที่ให้ขายยางในสต็อก 1.04 แสนตัน จะได้ไม่มีปัญหากับราคาขายยางของเกษตรกร ที่พ่อค้าชอบใช้อ้างว่าเรามีสต็อกเยอะ แล้วมาขายในช่วงที่เกษตรกรยังไม่เปิดหน้ากรีดยาง จะเป็นผลดีกับพี่น้องเกษตรกร แต่ถ้าไปขายในช่วงอื่นจะไม่เห็นด้วย