แก้รธน. แบ่งความเห็น 2 ฝั่ง ส.ว. ห่วงเกิดประเพณีใหม่

24 ส.ค. 2564 | 09:52 น.

รัฐสภา แบ่งความเห็น 2 ฝั่ง แก้รธน. เกินหลักการ ยอมรับอำนาจกมธ.แก้รธน. ทำได้ แต่ห่วงเกิดประเพณีใหม่ เสนอ 2 มาตรา แต่ลามไป 10-20มาตรา

วันที่ 24 ส.ค.2564  ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งมีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เข้าสู่การพิจารณาญัตติ ขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ซึ่งเสนอโดยนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลและคณะ  ต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่...) พ.ศ.... แก้ไขมาตราา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ใช้อำนาจแก้ไขเนื้อหาเกินหลักการที่รัฐสภาลงมติในวาระแรก นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 
 

ทั้งนี้ในการอภิปรายมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝั่งชัดเจน โดยฝั่งกมธ.เสียงข้างมาก ซึ่งประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนาและ พรรคเพื่อไทย  อภิปรายย้ำว่าการทำหน้าที่ของกมธ. ยึดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 124  โดยแก้ไขเนื้อหาโดยยึดคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา และการแก้ไขมาตราอื่นที่เกี่ยวข้องกับหลักการนั้นสามารถทำได้ เพราะมีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกัน และขออย่ายึดติดกับเลขมาตรา

แก้รธน. แบ่งความเห็น 2 ฝั่ง  ส.ว. ห่วงเกิดประเพณีใหม่

โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอข้อสังเกตแนบท้าย 2 มาตรา เพราะเกี่ยวเนื่องกับการใช้บังคับ ทั้งนี้เคยมีกรณีที่เคยบัญญัติไว้ คือ ใช้เฉพาะในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไปเท่านั้น หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นที่ไม่มีการเลือกตั้งทั่วไป ให้ใช้กฎหมายเดิมไปก่อน ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับมาตรา 91 และเหตุผลสำคัญ คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และฉบับแก้ไข มีความย้อนแย้งเรื่องเขตเลือกตั้ง หากมีการเลือกตั้งซ่อมแล้วใช้ตามรัฐธรรมนูญใหม่จะเป็นปัญหาเรื่องเขตเลือกตั้ง และมีส.ส.2ระบบในสภาเดียวกัน ทั้งนี้ตนมองว่าอำนาจของกมธ.ฯ นั้นสามารถทำได้ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

 

 อย่างไรก็ดี ส่วนของฝั่งที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งประกอบด้วย พรรคก้าวไกล และ กลุ่มพรรคเล็ก รวมถึง ส.ว. อภิปรายท้วงติงว่า การทำหน้าที่ของกมธ.ฯ ที่แก้ไขเนื้อหาในมาตราอื่น นั้นหากจะกระทำต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่าตีความเกินหลักการของข้อบังคับ 

ทั้งนี้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว. ฐานะกมธ. อภิปรายว่า การใช้ข้อบังคับรัฐสภา 124 วรรคสาม ที่ให้สิทธิกมธ. แก้ไขเนื้อหามาตราที่เกี่ยวข้อง หรือประเด็นที่เกินหลักการได้ แต่ต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน ควรใช้การตีความอย่างแคบ เพื่อไม่ให้มีปัญหาต่อการปฏิบัติ เพราะหากเกิดกรณีที่มีผู้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียง2มาตรา และกมธ.ฯ ได้สร้างบรรทัดฐาน หรือ ประเพณีใหม่ว่าแก้ไขมาตราที่เกี่ยวเนื่องได้ โดยลักษณะของรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดและเกี่ยวโยงผูกพัน เช่น การเลือกนายกรัฐมนตรี หากเสนอเพียง 2 มาตรา อาจถูกโยงไปสู่การแก้ไขเพิ่มอีก 10- 20 มาตรา

 

ขณะที่ นายกมลศักดิ์ ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ อภิปรายถึงจุดยืนของพรรคประชาชาติ ว่า ตนและพรรคประชาชาติเห็นด้วยต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บนหลักการที่ว่า รัฐสภาต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับญัตติที่รับหลักการ คือ มาตราา83 และมาตรา 91 ตนและพรรคประชาชาติไม่เห็นด้วย