"กนก" ห่วงโควิดลากยาว การศึกษาสะดุด แนะทุ่มงบเรียนออนไลน์

19 ส.ค. 2564 | 09:39 น.

ศ.ดร.กนก ห่วงโควิดลากยาว การศึกษาสะดุด แนะ ทุ่มงบเอื้อเรียนออนไลน์ ยกโมเดล สิงคโปร์-เกาหลีใต้ แจก-เช่าอุปกรณ์-ไม่คิดค่าอินเทอร์เน็ต

วันที่ 19 ส.ค. 2564  ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยภาพจำลองที่ ศบค.เคยประเมินไว้ว่าในเดือนกันยายนอาจมีผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 4.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งแน่นอนว่ากระทบกับทั้งการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน รวมไปถึงการศึกษาของเยาวชนไทย จนทำให้มีข้อเสนอหยุดเรียน 1 ปี แต่การศึกษาเป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้  สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้คือ ผู้บริหารต้องกำหนดนโยบายที่สอดรับกับสถานการณ์ บนหลักคิดว่า โรงเรียนอาจจะหยุดได้ แต่อย่าหยุดการเรียนรู้ของนักเรียน 

 

ฉะนั้นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องหาโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในชั้นเรียนที่โรงเรียน จากผลการวิจัยพบว่าการเรียนการสอนออนไลน์ทำให้คุณภาพการศึกษาถดถอย เราจะต้องตั้งคำถามต่อไปว่าถดถอยเพราะอะไร ซึ่งคำตอบที่ได้คือการศึกษาออนไลน์        ที่ถดถอยเป็นเพราะว่าจัดการเรียนออนไลน์ได้ไม่ดี เช่น ขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการเรียน เครื่องมืออุปกรณ์  ไม่พร้อม ไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ครูที่สอนไม่พร้อม เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องยอมรับความจริงว่า           การจัดการศึกษาออนไลน์ในภาพรวมทำให้คุณภาพการศึกษาถดถอยจริง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำ   ในสังคมมากขึ้น

“โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องทำควบคู่ไปกับการคุมโรคโควิด-19 คือ ต้องจัดงบประมาณให้เพียงพอต่อการเอื้อให้นักเรียนเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้อย่างมีคุณภาพ โดยถอดบทเรียนจากปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุปกรณ์การเรียน ต้องทำให้นักเรียนทุกคนเข้าถึงได้ไม่ว่าจะมีฐานะอย่างไรก็ตาม โดยมีตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ มีโครงการแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาให้ครบภายในปีนี้ ส่วนเกาหลีใต้มีทั้งแจกและเปิดให้เช่าอุปกรณ์เพื่อเด็กที่ด้อยโอกาส สิ่งเหล่านี้รัฐบาลต้องรีบกำหนดเป็นนโยบาย รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนออนไลน์ การไม่คิดค่าใช้จ่ายอินเทอร์เน็ตกับการเรียนออนไลน์ เพราะโรคโควิด-19 ยังจะอยู่กับเราอีกนาน แต่การเรียนรู้ของเยาวชนไทยจะสะดุดเพราะไวรัสร้ายนี้ไม่ได้"

ศ.ดร.กนก ยังเสนอด้วยว่า     การแก้ปัญหาการเรียนการสอน ต้องเริ่มต้นที่ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการและผู้บริหารโรงเรียน คิดและสำนึก ทุ่มเท เอาจริงกับการแก้ไขข้อจำกัด เพื่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพให้มากที่สุดภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่  และ กระทรวงศึกษาธิการต้องเปิดใจที่จะให้ทุกฝ่ายเข้ามา          มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา การศึกษาเป็นเรื่องของทุกฝ่ายในสังคมจะต้องช่วยกัน การเรียนรู้การศึกษามากกว่าการเรียนรู้ทางวิชาการ เพราะเป็นเรื่องของการเรียนรู้ในชีวิต ดังนั้นการสร้างสำนึกความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่จะเรียนรู้ร่วมกันเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้าคิดได้แล้วตั้งใจทำ ก็เชื่อว่าจะแก้ปัญหานี้ได้