“พิษปิดปากสื่อ”ฝ่ายค้านร้องป.ป.ช.เอาผิด“นายกฯ”ทั้งอาญา-จริยธรรม

10 ส.ค. 2564 | 04:35 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2564 | 11:49 น.

ฝ่ายค้านยื่นป.ป.ช.สอบเอาผิด “นายกฯ” ทั้งคดีอาญา-จริยธรรมร้ายแรง หลังออกข้อกำหนดฉบับ 29  เชื่อหลักฐานชัดทำหลุดตำแหน่งได้ เตรียมเคาะประเด็นซักฟอก-รายชื่อรมต.พรุ่งนี้ ก่อนยื่นประธานสภาฯ 16 ส.ค.

วันนี้(10 ส.ค.64) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) พรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ  นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อชาติ

 

ร่วมยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง และดำเนินคดีกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ กรณีออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อ และศาลแพ่งมีคำสั่งคุ้มครอง

 

นายสุทิน ระบุว่า การกระทำของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย และเข้าข่ายกระทำความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือ โดยทุจริตเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการเมืองของตนโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 172 ฐานละเว้นปฏิบัติ หรือ ปฏิบัติโดยทุจริต รวมถึงผิดมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง 

 

ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็จะต้องส่งเรื่องต่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง เพื่อสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฎิบัติหน้าที่ ซึ่งจะกระทบต่อสถานภาพของนายกรัฐมนตรีด้วย

นายสุทิน กล่าวว่า หลังจากที่ศาลแพ่งสั่งคุ้มครอง รัฐบาลก็ยังนิ่งเฉย ทั้งที่ควรยกเลิกข้อกำหนดดังออก นอกจากบริหารผิดพลาดยังออกกฏหมายมาปิดปาก และยังเตรียมออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมสุดซอยให้ตนเองอีก เรียกว่าไม่รับผิดชอบแล้วยังหนีความผิดแบบครบวงจร

 

ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวเสริมว่า แม้ศาลแพ่งคุ้มครอง แต่ข้อกำหนดดังกล่าวก็ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำผิดที่ชัดเจน จึงมั่นใจว่าการยื่นคำร้องวันนี้จะเป็นคุณและประโยชน์ต่อประชาชน
 

นายสุทิน ระบุเพิ่มเติมว่า ในส่วนของข้อมูลที่นำมายื่นต่อ ป.ป.ช.วันนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการนำเอาไปอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย โดยในวันพรุ่งนี้ (11 ส.ค.) พรรคร่วมฝ่ายค้านนัดหารือร่วมกัน เพื่อสรุปประเด็นและรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปราย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 5-6 คน แต่จะเน้นหนักไปที่ตัวของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังบริหารงานล้มเหลว ซึ่งรายละเอียดแบบสรุปจะนำแถลงต่อสื่อมวลชนอีกครั้งในวันที่ 13 ส.ค.นี้ ก่อนนำยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร นายชวน หลีกภัย ในวันที่ 16 ส.ค.ต่อไป