svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ศาล สั่งห้ามนายกใช้ พรก.คุมสื่อ ธีระชัย ถาม รัฐบาลรับผิดชอบอย่างไร?

07 สิงหาคม 2564

ธีระชัย ชำแหละ รัฐบาลออกกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ ปม ศาลแพ่ง สั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายกฯใช้ พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ ถาม รัฐบาลต้องรับผิดชอบอย่างไร แนะจับตาฝ่ายค้านร้องศาล รธน. ถอดถอนนายก?

7 สิงหาคม 2564 - จากกรณี ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ นำโดยบริษัท รีพอร์ตเตอร์ โปรดักชั่น จํากัด กับพวกรวม 12 คน ยื่นฟ้อง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จากประเด็น การใช้อำนาจ ออกข้อกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) เรื่อง " มาตรการเพื่อมิให้มีการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือ เจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร" 

 

ซึ่งต่อมาภายหลัง 2 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยห้ามนายกรัฐมนตรี บังคับใช้ข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน ควบคุมสื่อ โดยชี้ว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง ไม่มีกฎหมายให้อำนาจในการระงับอินเตอร์เน็ต โดยถือข้อกำหนดดังกล่าว ลิดรอนสิทธิเสรีภาพการทำงานของสื่อมวลชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 ที่บัญญัติคุ้มครองไว้

คลิกอ่านข่าว : เปิดคำสั่งศาลแพ่ง "คุ้มครองชั่วคราว" ห้ามนายกฯใช้พรก.ฉุกเฉิน "ปิดปากสื่อ"

ล่าสุด นาย ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง วิพากษ์ถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมตั้งคำถาม ในเมื่อ รัฐบาลออกกฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ จะต้องรับผิดชอบอย่างไร โดยมีใจความสำคัญดังนี้ .....

 

“รัฐบาลออกกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ?”

ถามว่า ศาลแพ่งมีคําสั่งห้ามรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ ดําเนินการบังคับใช้ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 29) เป็นการชั่วคราว รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบอย่างไร?

 

ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า

ข้อกําหนดฯ ข้อ 1 ที่ห้ามเผยแพร่ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว 

  • มิได้จํากัดเฉพาะข้อความอันเป็นเท็จ ดังเหตุผลและความจําเป็นตามที่ระบุไว้ในการออกข้อกําหนดดังกล่าว ย่อมเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติคุ้มครองไว้ 
  • ทั้งยังไม่ต้องด้วยข้อกําหนดฯ ที่ระบุว่าจําเป็นต้องมีมาตรการที่กําหนดให้การใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล ถูกต้องตามข้อเท็จจริงตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกําหนด
  • ทั้งข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวตามข้อกําหนดข้อดังกล่าวนั้น มีลักษณะไม่แน่ชัดและขอบเขตกว้าง ทําให้ประชาชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนไม่มั่นใจในการแสดงความคิดเห็นและสื่อสาร ตามเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญฯ มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองไว้ 
  • นอกจากนี้ยังเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่ต้องด้วย มาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ
  • ทั้งข้อกําหนดดังกล่าวก็ไม่ได้กําหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางในการ ปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ตามความในมาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการใน สถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554
  • ส่วนข้อกําหนดฯ ข้อ 2 ที่ให้อํานาจระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตแก่เลขที่อยู่ ไอพี (IP address) ที่มีการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารในอินเทอร์เน็ตที่ฝ่าฝืนข้อกําหนดฯ 
  • ไม่ปรากฏว่ามาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2554 ให้อํานาจนายกรัฐมนตรีออกข้อกําหนดให้ดําเนินการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ต จึงเป็นข้อกําหนดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
  • อินเทอร์เน็ตมีความสําคัญต่อการดําเนินชีวิตประจําวัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ ไวรัสโคโรนา 2019 (Coronavirus Disease : COVID-19) และรัฐสั่งปิดพื้นที่หรือล็อกดาวน์จํากัดการเดินทางหรือการพบปะระหว่างบุคคล
  • ทั้งข้อกําหนดข้อดังกล่าวมิได้จํากัดเฉพาะการระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตสําหรับการกระทําครั้งที่เป็นเหตุแห่งการระงับให้บริการอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังระงับการให้บริการอินเทอร์เน็ตในอนาคตด้วย ปิดกั้นการสื่อสารของบุคคล และเป็นการปิดกั้นสุจริตชนผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อความหรือข่าวสารดังกล่าว ไม่ต้องด้วยมาตรา 36 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญฯ
     

การปฏิบัติที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ อาจจะมีผลหลายอย่าง

 

หนึ่ง รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ มาตรา ๕ บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับ มิได้

สอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ บัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

จึงน่าติดตามว่า จะมีพรรคฝ่ายค้านที่ร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่