"สมคิด"ถามปรับครม. "คนใหม่มา แต่ทำงานไม่เป็น จะมาทำไม"

24 มิ.ย. 2563 | 04:41 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธตอบคำถามเกี่ยวกับกระแสข่าว การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะ ทีมเศรษฐกิจ ในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ

"ไม่ต้องถามเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) คนเก่าไป คนใหม่มา เก่าไม่ไป หรือคนใหม่มา ไม่ต้องพูด ตอนนี้ไม่มีอะไรสำคัญ"นายสมคิด กล่าวระหว่างงานเปิดตัวนโยบายเศรษฐกิจสร้างไทยของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

นายสมคิด กล่าวว่า เรื่องสำคัญขณะนี้คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง ทุกคนทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน ไม่ว่าเก่าจะอยู่ หรือใหม่จะมา ต้องเดินตามหลักการ คือต้องทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง สร้างงานให้คนไทย ถ้าคนเก่าอยู่ แต่ทำงานไม่ได้ ก็ไม่ต้องอยู่ ถ้าคนใหม่จะมา แต่ทำงานไม่ได้ ทำไม่เป็น จะมาทำไม ถ้ารัฐบาลจะอยู่แล้วขับเคลื่อนประเทศไม่ได้ ก็ไม่ต้องอยู่ นี่คือหลักการบริหารประเทศ

 

"เวลาเปลี่ยนไป รัฐมนตรีก็ต้องเปลี่ยนไป แต่หลักการ ธ.ก.ส.ห้ามเปลี่ยนไป ธ.ก.ส.ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ไม่จำเป็นต้องไปแข่งขัน แต่ ธ.ก.ส.เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา"

นายสมคิด กล่าวเพิ่มเติมว่า อยากให้ทุกคนสนใจข่าวสารที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เพราะโอกาสที่รัฐหยิบยื่นเพื่อให้เกษตรกรมีเงินลงทุน เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า ไม่อยากจะพูดเรื่องอื่นที่ไม่เป็นเรื่อง

ด้านนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การทำงานของรัฐบาลวันนี้ชัดเจนแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันดูแลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งธนาคารเฉพาะกิจแห่งรัฐ ภาคประชาชน และผู้ประกอบการ ส่วนเรื่องการเมืองก็เป็นไปตามครรลองตามนั้น แต่ถ้าคิดว่าวันนี้ประเทศชาติต้องการความร่วมมือร่วมใจ ซึ่งก็มีความชัดเจนอยู่แล้ว อย่างงานของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ก็เป็นส่วนหนึ่ง 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเครือข่ายกระทรวงการคลังได้จัดตั้งทีมเราไม่ทิ้งกัน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้ง ธนาคารออมสิน ธพว. กรุงไทย และคลังต่างจังหวัด ซึ่งจะเริ่มเดินเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู แต่การระมัดระวังเรื่องโควิด-19แพร่ระบาดก็ยังต้องทำ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ต้องมีด้วย
 

พร้อมกันนี้ ในวันจันทร์ ที่ 29 มิ.ย.2563 กระทรวงการคลังจะมีการหารือร่วมกับ สสว. เพื่อพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมมาดูแลไมโครเอสเอ็มอี ที่เข้าไม่ถึงระบบสถาบันการเงิน โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว ในเบื้องต้นได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว และธปท. เองก็เห็นด้วย หากจะมีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมา ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว คาดว่าขนาดกองทุนจะมีวงเงินไม่เกิน 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะใช้งบประมาณจากพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี จะต้องให้คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เป็นผู้พิจารณาในเรื่องวงเงินอีกครั้ง