‘ไทยรักไทย’ แปลงร่างในคราบ ‘พลังประชารัฐ’

20 มิ.ย. 2563 | 02:35 น.

หลังกลุ่ม “สามมิตร” เดินเกมชิงอำนาจในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จาก “4 กุมาร” ได้สำเร็จ ในเช้าวันอังคารที่ 23 มิถุนายนนี้ แกนนำและ ส.ส. พปชร.จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อนำพานพุ่มดอกไม้ เพื่อเชิญ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และประธานยุทธศาสตร์พรรค มาเป็นหัวหน้าหน้าพรรค

ส่วนตำแหน่งสำคัญในพรรคจากเดิมที่กลุ่มสามมิตรวาง “สันติ พร้อมพัฒน์” ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรค ต้องกลับมาดื่มนํ้าใบบัวบกแทน คาดว่าได้เพียงเก้าอี้ “ผู้อำนวยการพรรค”  

ขณะที่เก้าอี้เลขาธิการพรรค ตกเป็นของ อนุชา นาคาศัย ส่วนเก้าอี้รองหัวหน้าพรรค มีชื่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ  ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

โฉมหน้าว่าที่ผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐชุดใหม่ ดูคล้ายคลึงกับยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ที่ดึงก๊วนการเมืองมาร่วมตั้งพรรค “ไทยรักไทย” ส่งผลให้ทักษิณ ได้ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประไทยได้สำเร็จ  

วันนี้ในยุครัฐบาล “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บรรดาอดีตแกนนำไทยรักไทย ที่เคยเป็นเสาคํ้ายัน “ทักษิณ” แปรพักตร์มาเป็นเสาคํ้าให้ “บิ๊กป้อม” และ “บิ๊กตู่” กลายเป็นสมการทางการเมือง ที่สังคมเฝ้าติตตามอย่างใกล้ชิด กำลังเกิดอะไรขึ้นในพรรคพลังประชารัฐ

 

เส้นทาง“อนุชา”

“เสี่ยแฮงค์” อนุชา นาคาศัย เริ่มเข้าสู่เส้นทางการเมือง จากการเป็น ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย ต่อมาในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกก.บห.พรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคการเมืองในปี 2549 

อนุชา ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองคู่บุญของ สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร ต่อมาสวมบทกุนซือ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ขณะนั่งเก้าอี้รมว.คมนาคม จนได้รับความไว้วางใจจากสุริยะ อย่างมาก

 

‘ไทยรักไทย’ แปลงร่างในคราบ ‘พลังประชารัฐ’

 

ต่อมา “เสี่ยแฮงค์” ย้ายออกจากไทยรักไทย พลังประชาชน มาตั้งร่วมตั้งพรรคมัชฌิมาธิปไตย และสังกัดพรรคภูมิใจไทย 

ในช่วงที่ถูกตัดสิทธิทาง การเมือง เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบไทยรักไทย ในปี 2550 เขาจึงส่งภรรยา พรทิวา นาคาศัย (ปัจจุบันหย่ากันแล้ว) ลงเล่นการเมืองแทน โดยพรทิวา ได้เป็นเลขาธิการพรรคมัชฌิมาธิปไตย ภายหลังมัชฌิมาธิปไตยถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค 

 

พลิกบูม“สมศักดิ์”

สมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มสามมิตร หรือวังนํ้ายม ก๊วนการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในพรรคไทยรักไทย เป็นอดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม และอดีต ส.ส.ไทยรักไทย ในระหว่างนั้น สมศักดิ์ ได้รับตำแหน่งรมว.อุตสาหกรรม รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเป็นรองนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา

จากนั้นในปี 2548 จึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีอีกครั้งใน “รัฐบาลทักษิณ2” เป็นรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา และปรับเปลี่ยนมาเป็นรมว.แรงงาน

หลังการรัฐประหาร ในปี 2549 สมศักดิ์ และกลุ่มวังนํ้ายม ได้ลาออกจากไทยรักไทย ไปจัดตั้งกลุ่มของตัวเองขึ้นมาใหม่ ใช้ชื่อว่า “กลุ่มมัชฌิมา”

ต่อมาในปี 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็น กก.บก.ไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรค ได้นำสมาชิกไปสังกัดพรรคประชาราช แต่ปัญหาภายในพรรค จึงออกมาตั้งชื่อ พรรคมัชฌิมาธิปไตย 

สมศักดิ์ เป็นหัวหน้ากลุ่มการเมืองในไทยรักไทย ที่ชื่อ “กลุ่มวังนํ้ายม” อันเป็น กลุ่มใหญ่ที่สุดในพรรค ในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี 2548 สมศักดิ์ มีนโยบายที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คือ “โคล้านตัว” เป็นนโยบายที่จะทำการแจกโคให้แก่เกษตรกรฟรีทั่วประเทศ

 

ถนนการเมืองสุริยะ 

เส้นทางการเมือง สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เริ่มจากการชักชวนของสมศักดิ์ เทพสุทิน ซึ่งขณะนั้นลาออกจากพรรคกิจสังคมย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาได้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคเพราะทุนหนัก บวกกับผนึกกำลังกับ “เจ๊แดง” เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวทักษิณ ทำให้ “กลุ่มวังบัวบาน” กลายเป็นมุ้งใหญ่ มี ส.ส.ในสังกัดมากกว่าร้อยคน สุริยะ ได้เป็นเจ้ากระทรวงเกรดเอ อย่าง อุตสาหกรรม และ คมนาคม เรื่อยมา 

ต่อมา สมศักดิ์-สุริยะ ไปตั้งกลุ่มใหม่ชื่อว่า “วังนํ้ายม” ในการปรับ ครม. “ทักษิณ 2” สุริยะ ถูกลดบทบาทเหลือแค่เก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ตำแหน่งสุดท้าย ก่อนรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ถูกยึดอำนาจ เมื่อปี 2549

หลังยึดอำนาจปี 2549  สุริยะ ถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี จากคดียุบไทยรักไทย 

เป็นช่วงเดียวกับที่เขาถูก คสต.หยิบยกคดีทุจริตจัดซื้อเครื่องตรวจสัมภาระภายในสนามบินสุวรรณภูมิ หรือ CTX 9000 ขณะดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม เมื่อปี 2548 มาตรวจสอบ แต่ต่อมา ป.ป.ช.มีมติยกคำร้องไปเมื่อปลายปี 2555 เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ในเดือนมกราคม 2552 สุริยะ หวนคืนสนามการเมืองอีกครั้งในนาม พรรคภูมิใจไทย ร่วมกับอดีตแกนนำจากไทยรักไทย นำโดย เนวิน ชิดชอบ สมศักดิ์ เทพสุทิน สุชาติ ตันเจริญ และ อนุทิน ชาญวีรกูล

 

ลดชั้น“สันติ”

สันติ พร้อมพัฒน์ ตามโผจากตัวชิงเลขาธิการ พปชร. ลดชั้นเหลือแค่ “ผอ.พรรค”

เส้นทางการเมืองของ สันติ เป็นส.ส.เพชรบูรณ์ พรรคความหวังใหม่ จากนั้นย้ายเข้าพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย ก่อนมาปักหลักที่พลังประชารัฐ 

ในแวดวงการเมือง รู้ดีว่า สันติ เป็นคนที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ไว้ใจมากคนหนึ่ง ถึงขั้นให้เครือญาติ สันติ คือ นายพิชัย พร้อมทวีสิทธิ์ ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลาน (พร้อมทวีสิทธิ์ เป็นนามสกุลเดิมของ สันติ) เป็นกรรมการรัชดา มิลเลนเนี่ยม ทาวเวอร์ จำกัด ยืมเงินจาก “คุณหญิงอ้อ” พจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภริยาทักษิณ เป็นเงิน 160.25 ล้านบาท  

 

แม้ “เสี่ยสันติ” ไม่ใช่คนเพชรบูรณ์โดยกำเนิด แต่ธุรกิจพัฒนาที่ดินในหลายอำเภอของเพชรบรูณ์ ทำให้เขากลายเป็นผู้กว้างขวางในเมืองมะขามหวาน เป็นที่รู้ดีในแวดดวงการเมืองว่า เสี่ยสันติ เป็นนายทุนกระเป๋าหนัก ทุกครั้งที่มีเลือกตั้ง เสี่ยสันติ จะควักกระเป๋าจ่ายเอง จนทำให้ “นายหญิง” แห่งบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” ไว้วางใจ

ถึงขั้น “คุณหญิงอ้อ” ไว้วางใจให้ บริษัท เจ้าคุณอุตสาหกรรมและการเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวและเครือญาติของสันติ กู้ยืมในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2543 มูลค่าไม่มากไม่น้อย แค่ 160.2 ล้านบาท

สันติได้เป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช โดยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี รมว.คมนาคม ต่อมาในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งเก้าอี้รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เส้นทาง“วิรัช”

“วิรัช” เริ่มเป็น ส.ส. โคราช ในปี 2529 พรรคชาติไทย ที่มี “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผู้ก่อตั้ง ในช่วงนั้น “เสี่ยไพบูลย์” บิดาของวิรัช เป็นนายทุนพรรคชาติไทย เขาจึงเป็นส.ส. พรรคชาติไทยต่อเนื่อง  

หลัง “น้าชาติ” ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2541“วิรัช” ย้ายไปอยู่กับพรรคมหาชน รวม ใจไทยชาติพัฒนา และปี 2554 ย้ายเข้าเพื่อไทย ได้รับแต่งตั้งเป็นรมช.เกษตรฯ ในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย

ในการเลือกตั้งล่าสุดปี 2562 ตระกูล “รัตนเศรษฐ” ประกอบด้วย วิรัช, ทัศนียา, อธิรัฐ และ ทวิรัฐ บุตรชายคนโตและบุตรชายคนที่ 2 ยกครัวเข้าซบ พปชร. และได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,585 หน้า 12 วันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2563