นับถอยหลัง "อนาคตใหม่" "ยุบ-ไม่ยุบ" พรรค

15 ก.พ. 2563 | 06:30 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับกรณี “คดีกู้ยืมเงิน 191 ล้านบาท” ระหว่าง พรรคอนาคตใหม่ กับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยคดีนี้ ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

อีกไม่กี่วันก็จะเป็นการชี้ชะตาอนาคตของเหล่า ส.ส. สมาชิกพรรค และกรรมการ บริหารพรรคอนาคตใหม่ทุกคน

ย้อนไปดูเส้นทางของ คดีนี้ เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม 2562 เมื่อนายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ได้ไปบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ว่า ได้ให้พรรคยืมเงินไปเพื่อใช้ในกิจกรรมหาเสียงเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ประมาณ 110 ล้านบาท เพราะระดมทุนไม่ทัน

จากนั้นนางสาวพรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรค ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้เป็นการยืมเงิน แต่เป็นการปล่อยกู้ให้กับพรรค และเรื่องนี้ได้ผ่านความเห็นชอบจาก “กรรมการบริหารพรรค” เป็นที่เรียบร้อย แล้ว โดยทางพรรคตกลงทำสัญญาจะจ่ายเงินคืนให้แก่นายธนาธรทั้งหมด

กระทั่ง ปรากฏหลักฐานการกู้ยืมเป็นเอกสารชัดเจน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกรณีเข้ารับตำแหน่งส.ส.ซึ่งในครั้งนั้น นายธนาธร แจ้งต่อ ป.ป.ช.ว่าได้ให้พรรคกู้ยืมเงินไปกว่า 191 ล้านบาทรวม 2 สัญญา

 

นับถอยหลัง \"อนาคตใหม่\" \"ยุบ-ไม่ยุบ\" พรรค

 

สัญญาแรกทำขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 จำนวน  161.2 ล้านบาทคิดอัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี กำหนดเงื่อนไขให้พรรคต้องชำระหนี้คืนพร้อมดอกเบี้ยภายใน 3 ปี โดยปีที่ 1 ชำระเงินต้น 80 ล้านบาท ปีที่ 2 ชำระเงินต้น 40 ล้านบาทและปีที่ 3 ชำระเงินต้น 41.2 ล้านบาท หากผิดชำระจะมีค่าปรับวันละ 100 บาท ซึ่งในสัญญาฉบับนี้ พรรคอนาคตใหม่รายงานว่าได้ชำระคืนเป็นเงินสดคืนให้กับ นายธนาธร บางส่วนแล้ว อีกฉบับทำขึ้นเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 จำนวน 30 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยสัญญาทั้ง 2 ฉบับมีชื่อ นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ เหรัญญิกพรรคอนาคตใหม่ ปฏิบัติหน้าที่แทนหัวหน้าพรรคเป็นผู้รับสัญญาผู้กู้

ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เข้ายื่นร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 ในพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือไม่  ซึ่งกกต.ได้มีมติพิจารณารับคำร้องไว้ในวันรุ่งขึ้น (22 พฤษภาคม 2562) และได้เรียกนายศรีสุวรรณเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2562 และมีหนังสือเชิญบุคคลในพรรคอนาคตใหม่เข้าให้ข้อมูลแก้ข้อกล่าวหาในวันที่ 8 กรกฎาคม 2562


 

 

ขณะที่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 กกต.ได้เผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าพรรคอนาคตใหม่ได้จัดส่งเอกสารบางส่วนแล้ว แต่ขอขยายเวลาการจัดส่งเอกสารที่ยังไม่ได้จัดส่งต่อกกต.ออกไปอีก 120 วัน เป็นภายในวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นไปตามมติการประชุมกกต.ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2562

ต่อมาในวันที่ 11 ธันวาคม 2562 กกต.ได้มีมติเสียงข้างมากให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง(3) ประกอบมาตรา 93 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ. 2560

ก่อนสิ้นปี 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของ กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ ในวันที่ 25 ธันวาคม 2562 พร้อมให้แจ้งให้ผู้ร้องทราบและส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องดังกล่าวซึ่งครบกำหนดในวันที่ 10 มกราคม 2563

อย่างไรก็ดี ก่อนครบกำหนดพรรคอนาคตใหม่ได้ยื่นหนังสือขอขยายเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลก็อนุญาต ให้ขยายเวลาต่อไปอีก 15 วันโดยครบกำหนดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา

ในวันดังกล่าว พรรคอนาคตใหม่ได้มอบหมายให้ทีมทนายความเดินทางไปยื่นชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อคัดค้านและขอให้ศาลสั่งให้มีการไต่สวนพยาน 17 ปาก ในคดีนี้อย่างเปิดเผย ซึ่งเกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายทะเบียนพรรค และพยาน 17 ปากส่งคำชี้แจงเพียง 1 วัน คือ ภายในวันที่ 12 กุมภาพันธ์

ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้อง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่ขอให้เปิดการไต่สวนในคดีนี้ แต่ได้ขยายเวลาให้พยานทั้งหมดส่งคำชี้แจงมาใหม่อีก 5 วัน เป็นภายในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 และนัดวินิจฉัยตามวัน และ เวลาเดิม คือวันที่ 21 กุมภาพันธ์ เวลา 15.00 น.

 

 

คดีนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ กฎหมายกำหนดให้ส.ส.ของพรรคต้องหาสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน ขณะที่ “คณะกรรมการบริหารพรรค” ต้องสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปีทั้งยังต้องโทษ จำคุกในคดีอาญาไม่เกิน 5 ปี

ตามบทบัญญัติมาตรา 124 ระบุว่าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 66 วรรค 1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

มาตรา 125 บัญญัติว่าพรรคการเมืองใดรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดมีมูลค่าเกินที่กำหนดไว้ในมาตรา 66 วรรค 2 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการ
เมืองมีกำหนด 5 ปี และให้เงินทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดส่วนที่เกินมูลค่าที่กำหนดไว้ตามมาตรา 66 ตกเป็นของกองทุนพรรคการเมืองด้วย

เป็นเวลารวม 59 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องของกกต.ไว้พิจารณา ถึงวันที่คดีนี้กำลังจะรูดม่านปิดฉากลง ผลจะออกมาเช่นไร จะ “ยุบ” หรือ “ไม่ยุบ” พรรคอนาคตใหม่ ได้รู้พร้อมกันในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้แน่นอน

 

วันที่ 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2563