จี้ รัฐบาล ร่วมวง “ยุติความรุนแรง”

06 ก.ค. 2562 | 13:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วงเสวนา จี้ รัฐบาล ร่วมวง “ยุติความรุนแรง” ในสังคม

 

วันนี้(6ก.ค.62) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 จัดเสวนา เรื่อง ยุติการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อเสนอทางออกต่อการยุติการใช้ความรุนแรงกับคลื่อนไหวและนักกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งรายล่าสุด คือ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งถูกบุคคลรุมทำร้าย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ที่ผ่านมา

 

โดย นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า การใช้ความรุนแรง และการคุกคามต่อคนที่เห็นต่าง ผ่านการเคลื่อนไหวของนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเคารพและอดทนกับบุคคลที่เห็นต่างของคนในสังคมลดลงมากขึ้น ซึ่งผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือ การเพิ่มความเกลียดชังของคนในสังคม ขณะที่หน่วยงานภาครัฐไม่มีแนวทางป้องกันความรุนแรงที่เกิดจากการไม่ยอมรับความเห็นต่าง อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญบัญญัติเนื้อหาว่าด้วยการสร้างหลักประกันด้านการแสดงความคิดเห็นของตนเอง หากไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น แต่ยังพบนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่เห็นต่างจากรัฐ และตรวจสอบรัฐ ถูกทำร้าย

 

รัฐบาลต้องเริ่มกระบวนการที่ยุติการสร้างความเกลียดชัง หรือก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชัง เพราะกระบวนการดังกล่าวยากเกินกว่าปัจเจกบุคคลจะดำเนินการ ทั้งนี้การยุติสร้างคำพูดจากความเกลียดชังทำได้ โดยการเปิดเผยข้อเท็จจริงในแต่ละเหตุการณ์ของความรุนแรง ทั้ง แรงจูงใจ ใครคือคนกระทำผิด และคนทำผิดต้องถูกลงโทษนางอังคณา กล่าว

 

 

ด้าน พ.ต.อ. วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) กล่าวว่า กรณีที่เกิดกับนายสิรวิชญ์ ถือเป็นอาชญากรรมที่สังคมเชื่อว่ามีสาเหตุจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง อย่างไรก็ตามวิธีการสืบสวนของตำรวจต้องสืบค้นและตรวจค้น ทั้งนี้มีข่าวระบุว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจออกภาพสเก็ตช์คนร้ายเพื่อให้มีความคืบหน้า แต่รายละเอียดที่สำคัญแต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่ไม่เป็นรูปธรรม คือ การติดตามสืบยานพาหนะของคนร้าย รวมถึงติดตามตัวคนร้ายที่มีลักษณะของการรับจ้างมากกว่า ทั้งนี้เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถช่วยให้การสืบและติดตามคดีทำได้ง่ายและรวดเร็ว

 

ผมขอตั้งคำถามไปยังกระบวนการคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แม้กระบวนการตีหัวจะป้องกันไม่ได้ ส่วนที่หลายฝ่ายคาดหวังว่าจะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมมองว่ามีค่าเป็นศูนย์ เนื่องจากการทำงานที่ผ่านมาไม่มีผลงานที่สำเร็จเป็นรูปธรรม และหากส่งเรื่องจริงอาจทำให้ตำรวจปฏิเสธความรับผิดชอบ ทั้งนี้การทำงานของเจ้าหน้าที่ ล่าสุดคดีดังกล่าวใช้เวลา 1สัปดาห์ ผมมองว่าขณะนี้ควรมีข้อสรุปและมีหลักฐานเพียงพอต่อการออกหมายจับได้แล้วพ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว

ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์​โอชา นายกฯ ฐานะนักปกครองต้องปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง ต่อการรณรงค์ยุติความรุนแรงกับประชาชน เพื่อไม่ให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับฝ่ายใด ส่วนกรณีที่เกิดกับนายสิรวิชญ์ตนมองว่านายกฯ ทำเหมือนขอไปที เพราะไม่มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าฝ่ายความมั่นไม่กลัวจะจับคนร้ายได้ เพราะกังวลจะสืบสวนถึงรายละเอียดบุคคลที่เกี่ยวข้องและต้องอธิบาย ดังนั้นเพื่อให้เห็นการดำเนินคดีเป็นรูปธรรม นายกฯ ต้องสั่งการว่าต้องทำให้เสร็จภายในกี่วัน หากเกิดกรอบเวลาจะสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงปลดผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ทันที