ปตท.สผ. ระงับผลิตก๊าซแหล่งบงกชชั่วคราว อพยพคนหนีพายุ 'ปาบึก'

02 ม.ค. 2562 | 09:55 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ปตท.สผ. ระงับการผลิตก๊าซแหล่งบงกชชั่วคราว อพยพคนขึ้นฝั่งรับพายุ 'ปาบึก' ด้าน นายกฯ ยัน! รัฐบาลพร้อมรับมือ เตือนประชาชนให้เฝ้าระวัง

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. แจ้งว่าจากรายงานพยากรณ์อากาศนอกชายฝั่งเกี่ยวกับสถานการณ์พายุโซนร้อน 'ปาบึก' (PABUK) ซึ่งเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอ่าวไทยในขณะนี้ ปตท.สผ. มีความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตก๊าซฯ จาก 2 แท่นบงกชเหนือและบงกชใต้ไว้ชั่วคราว และดำเนินการส่งพนักงานที่เหลือทั้งหมดกลับขึ้นฝั่งที่ จ.สงขลา เพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติงานในพื้นที่ปฏิบัติงานนอกชายฝั่ง

เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชเหนือและแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชใต้อยู่ในเส้นทางการเคลื่อนตัวของพายุโซนร้อนดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของพนักงานและกระบวนการผลิตบนแท่นทั้งสองโดยตรง

อย่างไรก็ตาม แท่นผลิตก๊าซธรรมชาติอาทิตย์ยังคงดำเนินการผลิตก๊าซฯ ภายใต้มาตรการด้านความปลอดภัย เพื่อลดผลกระทบต่อการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ


แหล่งบงกช

ขณะนี้ ปตท.สผ. ได้ประสานงานกับหน่วยงานราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ดังกล่าวแล้ว โดยก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 2561 ปตท.สผ. ได้ระงับกิจกรรมการสำรวจและการซ่อมบำรุง ส่งพนักงานส่วนหนึ่งกลับเข้าสู่ฝั่งอย่างปลอดภัย รวมทั้งเคลื่อนย้ายแท่นเจาะและเรือสนับสนุนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบออกจากบริเวณพายุแล้ว

ปตท.สผ. เตรียมพร้อมแผนฉุกเฉินตามมาตรฐานสากลทั้งเชิงรุกและเชิงรับอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า มีความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการเตรียมรับมือพายุปาบึก ที่กำลังจะเคลื่อนผ่านภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยในวันที่ 3-5 ม.ค. นี้ ว่า รัฐบาลได้มีการเตรียมการตั้งแต่ 2 วันที่ผ่านมา โดยมีการแจ้งเตือนในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะเรื่องของการประมง การท่องเที่ยว รวมถึงการสัญจรไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อ่าวไทยและฝั่งอันดามัน จึงขอเตือนทุกคนให้ช่วยกันเตรียมการป้องกันตนเอง และขอร้องภาคเอกชนในการใช้เรือโดยสารต่าง ๆ ที่วันนี้ได้สั่งห้ามทั้งหมดแล้ว

"ได้ย้ำเตือนในการประชุมคณะรัฐมนตรีไปอีกครั้ง ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยจะมีการประชุมเตรียมการบูรณาการทุกภาคส่วนอีกครั้ง หลังจากได้มีการสั่งการไปแล้ว ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงกองทัพเรือและกองทัพบก"

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คาดว่าพายุจะเข้าภาคใต้ทั้งหมดในวันที่ 3 ม.ค. ไปจนถึงวันที่ 5 ม.ค. ซึ่งเดิมเป็นพายุดีเปรสชั่น และอาจจะขยายตัวรุนแรงเป็นพายุโซนร้อนซึ่งจะมีความรุนแรงมากขึ้น ดังนั้น ช่วงนี้อาจจะมีฝนตกชุก จึงต้องเตรียมการในเรื่องของการป้องกันน้ำท่วมและการแก้ไขการคมนาคม แต่หากมีปริมาณฝนมากก็อาจจะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา เพราะเป็นภัยจากธรรมชาติ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารสภาพอากาศไว้ด้วย

อย่างไรก็ตาม วันนี้รัฐบาลนี้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการบรรเทาอุทกภัยและภัยพิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งโดยมีอะไรหลายอย่างที่ดำเนินการมาใหม่ในการบูรณาการข้อมูลต่าง ๆ การช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง ที่ดำเนินการทุกอย่างแต่อาจไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ

แอดฐานฯ