24 ธ.ค. 2561 เวลา 11:43 น. 1.6k


สำหรับพรรคที่ถูกจับตามองเรื่องบุคคลที่จะเสนอชื่อเป็นนายกฯ หนีไม่พ้นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพราะมีชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นแคนดิเดตเบอร์ 1 ส่วนรายชื่อบัญชีนายกฯ ลำดับที่ 2 ต้องลุ้นว่าจะมีการทาบทาม “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯด้านเศรษฐกิจหรือไม่ ถ้าสมคิด ทาบทาม และสมคิดตอบโอเค “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค พปชร. และ รมว.อุตสาหกรรม น่าจะอยู่ในบัญชีนายกฯ ลำดับที่ 3
“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พปชร. ยอม รับว่าพรรคจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเบอร์ 1 ของการเสนอชื่อนายกฯ

“สนใจการเมือง แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะร่วมกับพรรคใด ได้แต่รับฟังจากที่หลายฝ่ายพูดไปก่อน หลายพรรคได้แสดงนโยบายต่างๆ ออกมา แต่ต้องทบทวนว่าจริง และทำได้หรือไม่”
เป็นคำกล่าวของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่มีท่าทีต่อการเมืองชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังก๊๊กที่จะตอบรับการเชิญจากพรรคการ เมืองใด ซึ่งรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ผู้ที่จะเป็นบัญชีนายกฯ ต้องสังกัดพรรคการเมือง ทั้ง เป็นการหลีกเลี่่ยงการตกเป็นเป้าโจมตีจากพรรคคู่แข่ง

ส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) โฟกัสไปที่ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หลังได้รับไฟเขียวให้รับหน้าที่ประธานยุทธศาสตร์พรรค ก็ได้เริ่มเดินสายเพื่อรับสมัครสมาชิกทั่วประเทศ เสมือนเป็นการเปิดตัวและตอกยํ้าผลการสำรวจของสถาบันการศึกษาหลายแห่งที่ความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ หนุนให้ “คุณหญิงหน่อย” เป็นนายกฯ ในอันดับ 1 หรือ 2 สลับขึ้นลงกับ พล.อ.ประยุทธ์
นอกจากนั้น “คุณหญิงสุดารัตน์” ยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนแคมเปญเลือกตั้ง และการดำเนินการต่างๆ ภายในพรรค รวมทั้งการจัดทัพผู้สมัคร ส.ส. เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจาก “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี และ “คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร” เห็นได้จากการส่ง “ลูกโอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร” บุตรชายมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เพื่อช่วยหาเสียง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ คุณหญิงสุดารัตน์ จะถูกเสนอให้อยู่ในบัญชีนายกฯ เบอร์ 1 และน่าจะตามด้วย “พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์” หัวหน้าพรรค และอาจจะมีชื่อ “โภคิน พลกุล” อดีตประธานรัฐสภา และอดีตรองนายกฯ อยู่ด้วยหรือไม่
[caption id="attachment_365443" align="aligncenter" width="335"]



มองไปที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย แม้ว่าจะมีรอยร้าวช่วงที่มีการชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่หลัง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ได้รับชัยชนะเหนือ 2 คู่แข่งคือ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก และ อลงกรณ์ พลบุตร อดีตส.ส.เพชรบุรี ชัยชนะครั้งนี้เสมือนเป็นการการันตีว่า “อภิสิทธิ์” จะอยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ลำดับที่ 1
ส่วนอีกคนที่คาดว่าจะมีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ด้วย คือ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคและอดีตนายกฯ เพราะเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับเรื่องภาพลักษณ์ที่ซื่อตรง เจ้าหลักการ จนได้รับการเกรงอกเกรงใจจากคนในพรรคประชาธิปัตย์ หากเสนอชื่อนายชวน เป็นแคนดิเดตนายกฯ จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธ


พรรคน้องใหม่ที่แตก เหล่าออกมาจากพรรคเพื่อไทย อย่าง ไทยรักษาชาติ (ทษช.) ที่มี “ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช” เป็นหัวหน้าพรรค ประกาศตั้ง แต่วันแรกที่ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคว่า พร้อมที่จะเป็นนายกฯ ต่อมาเมื่อ “จาตุรนต์ ฉายแสง” เดินออกจากเพื่อไทย เข้ามาซบไทยรักษาชาติ ชื่อ จาตุรนต์ โดดเด่นเทียบชั้นแคนดิเดตนายกฯ ได้ เพราะ “บิ๊กอ๋อย” มีชื่อติดโพลล์เป็นนักการเมืองหนุ่มติดอันดับว่าที่นายกฯเมืองไทยบ่อยครั้ง




ทั้งหมดเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับรายชื่อบุคคลที่คาดว่า จะถูกส่งเข้าประกวดในบัญชีรายชื่อนายกฯ ของแต่ละพรรค หลังปี่กลองได้ฤกษ์บรรเลงเพลงเลือกตั้ง “รักใคร ชอบพรรคไหน” เป็นโอกาสดีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะได้ตัดสินใจชี้ชะตาอนาคตประเทศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3428 หน้า 16 ระหว่างวันที่ 20-22 ธ.ค.2561
