สนช.หนุนร่างก.ม.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

11 ส.ค. 2560 | 08:16 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช.มีมติ 188 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ไว้พิจารณา มุ่งส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ..... ตามที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเสียง 188 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี และงดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 192 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติ 7 วัน กรอบระยะเวลาดำเนินการ 30 วัน

[caption id="attachment_193193" align="aligncenter" width="318"] นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวชี้แจงว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นการปรับปรุงบทบัญญัติกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ปี 2543 บางประการให้เอื้อต่อการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในสถานการณ์ปัจจุบัน ด้วยการเพิ่มเติมให้มีการใช้รายได้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดลักษณะของเอสเอ็มอี เพื่อให้การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมกว้างขวางมากขึ้น รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ กำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแต่งตั้งประธานกรรมการจากผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ รวมทั้งกำหนดรองรับให้คณะกรรมการบริหารเท่าที่มีอยู่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้กรณีขนาดองค์ประกอบ ตลอดจนกำหนดกระบวนการรองรับให้มีการเลือกประธานกรรมการในกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

ด้านสมาชิก สนช.เห็นด้วยในหลักการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นหัวใจสำคัญของฐานเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ตามได้ตั้งข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ ควรมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะเอสเอ็มอีในสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพในแต่ละท้องถิ่น เพื่อเป็นพี่เลี้ยงคอยให้ความรู้ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของเอสเอ็มอี, กำหนดบทบัญญัติสำหรับการกำกับ ติดตามตรวจสอบและประเมินผลการใช้งบประมาณการส่งเสริมเอสเอ็มอีอย่างเข้มเข้ม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามกฎหมายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น พร้อมทั้งเปิดรับฟังความเห็นภาคประชาชนให้ครบถ้วนในทุกมิติ เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น