ผู้ตรวจการแผ่นดินจับมือรัฐแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนวังน้ำเขียวกว่า 2.6 แสนไร่

23 ก.ค. 2560 | 01:25 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่  21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายประทีป เจริญพร ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน นายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เร่งติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนและพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา หลังพบปัญหายืดเยื้อยาวนาน กินพื้นที่กว่า 2.6 แสนไร่ กำชับให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินไม่ให้เกิดการทับซ้อนระหว่างที่ดินประชาชนกับที่ดินของรัฐ เน้นย้ำให้แก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่ป่าไม้อย่างถูกต้องเป็นธรรม

1500641338775 พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจากการร้องเรียนเกี่ยวกับการถือครองที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 5 อำเภอ  ใน 2 จังหวัด มีพื้นที่รวมกว่า 1.3 ล้านไร่ คือ อำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี โดยวันนี้ลงพื้นที่ในอำเภอวังน้ำเขียวเป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ผ่านมา พบว่าเขตอุทยานแห่งชาติทับลานเฉพาะในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียวกินพื้นที่กว่า 2.6 แสนไร่ โดยจำแนกเขตที่ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ของประเทศเป็น 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C)  พื้นที่ป่าเพื่อเศรษฐกิจ (Zone E) และพื้นที่ป่าที่เหมาะสมต่อการเกษตร (Zone A)  และจากการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีร้องเรียนดังกล่าว ปรากฏว่ามีสภาพปัญหาเรื่องแนวเขตและการครอบครองที่ดินของรัฐ และเกิดผลกระทบต่อประชาชน รวม 5 ปัญหา ได้แก่

1.แนวเขตที่ดินของอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกับแนวเขตที่ดิน ส.ป.ก.   2.แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับพื้นที่ ส.ป.ก.  3.แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับพื้นที่ทำกินของราษฎร  4.ปัญหาการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน  5. ปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขต ส.ป.ก. เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2555 โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนสำคัญ กล่าวคือ 1.การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง  1 ) กรณีพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดิน เขตอุทยานแห่งชาติกับเขตปฏิรูปที่ดิน และการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ประสานงานบูรณาการปรับปรุงแก้ไขรูปแผนที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยเพื่อดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎกระทรวง และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดที่ดินของรัฐ  2) กรณีการกำหนดพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเขาภูหลวง เขตพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ (โซน C ) ให้กรมป่าไม้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาแต่งตั้งคณะทำงานประกอบด้วยภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันตรวจสอบแก้ไขแนวเขตและสภาพพื้นที่ให้ถูกต้องต่อไป 3) กรณีการจับกุมดำเนินคดี เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช ชะลอหรือระงับการจับกุม ตรวจยึดเพื่อรอผลการปรับปรุงแก้ไขแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขต 4) กรณีผู้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4-01) ได้เปลี่ยนแปลงสภาพการใช้ประโยชน์ ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อกำหนดพื้นที่ให้สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของอำเภอวังน้ำเขียว

2.  การดำเนินการกับราษฎรที่ได้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ป่าไม้ดังกล่าว ให้รัฐพิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์ 5 ประการ ดังนี้ 1) หากดำเนินการพิสูจน์สิทธิของราษฎรแล้วปรากฏว่าอยู่มาก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับ (1 ธันวาคม 2497) ให้พิจารณาออกหนังสือแสดงสิทธิให้  2) ถ้าบุกรุกหลังวันที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 รัฐต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง  3) ผู้รับโอนสิทธิจาก 2) โดยรู้เห็นเป็นใจถือว่าเป็นผู้ไม่สุจริตต้องดำเนินการทางกฎหมายด้วย  4) ผู้รับโอนสิทธิมาโดยไม่สุจริต ก็ไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิด้วย  และ5) ราษฎรที่ครองครองทำประโยชน์มาก่อนหรือภายหลังจากการประกาศเป็นเขตป่าไม้ครั้งแรก และเป็นผู้สุจริตควรได้รบการผ่อนผันให้อยู่อาศัยและทำประโยชน์ต่อไปในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยกำหนดเงื่อนไข เช่น กรณีเป็นพื้นที่ต้นน้ำหรือพื้นที่ล่อแหลมต่อระบบนิเวศ ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดไม่ให้ก่อสร้างเพิ่มเติม และให้ปลูกต้นไม้รักษาพื้นที่ป่าตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่เห็นสมควร เพื่อเป็นการฟื้นฟูสภาพป่า

1500641354066 พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้นต่อนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 2555 จากนั้น คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2555 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักในการนำข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว ต่อมาในปี 2559 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวและสั่งการเพิ่มเติมว่าให้ดำเนินการให้ได้ข้อยุติทางกฎหมาย แล้วนำเข้าพิจารณาในคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ แต่พบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่สามารถนำแนวทางการปรับปรุงแก้ไขแนวเขตแผนที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานที่มีการดำเนินการไว้เมื่อปี 2543 ซึ่งเป็นแนวทางที่ยอมรับและสามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเป็นธรรมมาดำเนินการ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ยังได้รับความเดือดร้อนและร้องเรียนมายังผู้ตรวจการแผ่นดินอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น ในวันนี้จึงได้ลงพื้นที่เพื่อทราบปัญหา อุปสรรค และกำหนดแผนงาน ตลอดจนกรอบเวลาในการดำเนินการของแต่ละปัญหา เพื่อให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ทราบหน้าที่ในส่วนที่รับผิดชอบ และดำเนินการให้บังเกิดความคืบหน้าได้อย่างแท้จริง ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จังหวัดนคราชสีมา อำเภอวังน้ำเขียว องค์การบริหารส่วนตำบลไทยสามัคคี และ ผู้แทนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาแนวทางยุติข้อพิพาทในที่ดินดังกล่าวโดยเร่งด่วนต่อไป  พร้อมทั้งในที่ประชุมของวันนี้ได้มีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานดำเนินการ ดังนี้

1. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินการ เพื่อให้มีการแก้ไขข้อมูลหรือแผนที่ประกอบพระราชบัญญัติอุทยานฯ ให้ถูกต้องตามกฎหมายตามข้อเท็จจริง และทำให้กฎหมายมีความถูกต้องชอบธรรมไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนและรักาประโยชน์ของรัฐ  2. ให้ทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องนำการสำรวจแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามในปี 2543 และแนวกันไฟเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเขตพื้นที่ สปก. บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลาน  3. ให้กรมป่าไม้รับข้อคิดเห็น กรณีการกำหนดพื้นที่เขาแผงม้าให้เป็นโซน C นั้นให้มีความถูกต้องสอดคล้องกับสภาพข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเขตป่าสงวนแห่งชาติอำเภอวังน้ำเขียว  4. ผู้ตรวจการแผ่นดินจะประสานงานกับอัยการสูงสุดในระหว่างการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อให้มีการชะลอการดำเนินคดีต่อราษฎรที่ถูกฟ้องร้อง กรณีปัญหาแนวเขตทับซ้อนของอุทยานแห่งชาติทับลานกับเขตที่ดินที่ราษฎรประกอบอาชีพอยู่ 5. ผู้ตรวจการแผ่นดินจะนัดหมายพบปะหารือ เพื่อแสวงหาแนวทางในการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาการทับซ้อนแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตลอดจนป่าในอำเภอเสิงสาง และอำเภอครบุรี ดดบเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานของศูนย์แก้ไขปัญหาอุทยานแห่งชาติทับลานว่าจะมีขั้นตอนและกรอบเวลาการดำเนินงานอย่างไร

1500641358604 “ปัญหาที่ดินทำกินของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกทับซ้อนโดยแนวเขตอุทยานแห่งชาติ ป่าสงวนแห่งชาติ ที่ดิน ส.ป.ก. หรือที่ดินของรัฐอื่นๆ นับเป็นปัญหาความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ขณะเดียวกัน รัฐก็ต้องมีมาตรการที่เหมาะสมในการระงับยับยั้งและป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ หากการแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานบรรลุผลสำเร็จก็จะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน 96 หมู่บ้าน ให้ได้รับความเป็นธรรม และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องก็จะสามารถอยู่ร่วมกับราษฎรโดยต่างฝ่ายต่างช่วยกันทำนุบำรุงทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ที่ดินให้บังเกิดประโยชน์สูงสุดในการทำมาหากิน ประการสำคัญ ก็ต้องให้ประชาชนเหล่านี้มีส่วนช่วยกันปลูก ช่วยกันสร้างผืนป่าแห่งนี้ให้เป็นมรดกของแผ่นดินและเป็นมรดกโลกสืบไป” พลเอก วิทวัส กล่าวทิ้งท้าย