มิติใหม่‘เลือกตั้งส.ส.’ นาทีเดียวรู้ผลทั้งเขต-ปาร์ตี้ลิสต์

18 พ.ค. 2560 | 03:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แขวนร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้หลายมาตรา ที่เป็นประเด็นร้อน อาทิ การเสนอให้ยุบ กกต.จังหวัด แล้วให้ตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งแทน เป็นต้น โดยกมธ.จะนำเรื่องที่สมาชิกมีความเห็นต่างเข้าที่ประชุมใหญ่ สนช.วันที่ 9 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเตรียมความพร้อมจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้งนั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารกลาง ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การเลือกตั้งส.ส.แบบใหม่ที่เรียกว่า “จัดสรรปันส่วนผสม” นั้น ไม่รู้สึกกังวล แต่เป็นสิ่งที่ทำง่ายขึ้นในสายตา กกต. เพราะประชาชนเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียว ลงคะแนนครั้งเดียว และนับคะแนนน้อยลง กล่องเลือกตั้งน้อยลง บัตรเลือกตั้งก็พิมพ์น้อยลง จาก 100 ล้านใบ เหลือ 50 ล้านใบ เป็นต้น ในด้านการคิดคำนวณจากส.ส.เขตเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อก็ไม่ยาก เพราะ กกต.มีการทำโปรแกรมไว้เรียบร้อย สามารถคำนวณผลเลือกตั้งแล้วเสร็จภายใน 1 นาทีด้วยซ้ำ

  ห่วงเลือกส.ว.ยุ่ง
สิ่งที่ กกต.กังวลกลายเป็นการได้ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพราะค่อยข้างซับซ้อน ต้องเลือกถึง 3 รอบ ตั้งแต่เลือกตั้งในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และส่วนกลาง แต่ละรอบต้องมี 20 กลุ่มอาชีพ และต้องเลือกไขว่ ซึ่งการเลือกไขว่เป็นภาระมหาศาล ทั้งคนจัดการ และคนเลือก เช่น ถ้าสมัครในกลุ่มที่ 1 ไม่มีสิทธิเลือกกันเองในกลุ่มที่ 1 ต้องเลือกในกลุ่มอื่น ซึ่งจะไม่รู้เลยว่าเขาเป็นใคร ต้องเตรียมประวัติผู้สมัคร ซึ่งไม่รู้จำนวนเท่าใด

“เอกสารของผู้สมัครจะเยอะมาก ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งอ่านแล้วจะมีความสามารถในการกรองคนดีได้จริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การล็อบบี้ หรือแค่การซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเราก็ไม่ทราบ ในเชิงทฤษฎีออกแบบอย่างหนึ่ง แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกแบบหนึ่ง เอาจริงผมคิดว่าน่าจะยุ่งพอสมควร”

  ส่งตีความวันเลือกตั้งเสร็จ
นายสมชัย กล่าวถึงห้วงเวลาในการเลือกตั้งส.ส.ว่า การเลือกตั้งจะเป็นไปตามกำหนดหรือไม่ ไม่อยู่ที่กกต. แต่อยู่ที่ กรธ.ที่จะสามารถส่งกฎหมายลูก 4 ฉบับได้ทันหรือไม่ ซึ่งต้องให้เสร็จภายใน 8 เดือน หลังวันที่ 6 เมษายน 2561 โดยกรธ.รับปากว่าทัน หลังจากนั้นเป็นหน้าที่ของสนช.ที่จะออกกฎหมายให้ทันภายใน 60 วัน

ในส่วนของกกต.ก็ทำงานคู่ขนานกันไป ถ้ากฎหมายลูกทั้ง 4 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทาง กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งหลายคนเข้าใจว่าในวันเลือกตั้งต้องมีภายใน 150 วัน แม้แต่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ.) ก็เข้าใจแบบนั้น และสื่อกับสังคมว่าไม่รวมวันประกาศผลการเลือกตั้ง แม้แต่รัฐบาลเองเท่าที่สอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ก็เข้าใจว่า 150 วันคือวันเลือกตั้งส.ส.ไม่รวมวันประกาศผล

ประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก ทาง กกต.กังวลใจว่า แปลความหมายถูกหรือไม่ และสามารถเอาคำตอบของผู้ร่าง และผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปัจจุบันมาเป็นคำตอบว่า กกต.สามารถดำเนินการได้ตามนั้นจริงหรือไม่ เพราะท้ายที่สุดถ้าดำเนินการตามนั้นไป เท่ากับวันเลือกตั้งในวันที่ 150 แล้วหลังจากนั้นก็ต้องมีเวลาประกาศผลอีก 60 วัน พอถึงเวลาจริงมีใครสักคนไปฟ้องว่ากกต.ผิดรัฐธรรมนูญจัดการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จ รวมถึงประกาศผลไม่ทันกำหนด หากศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินว่า กกต.ผิด ผลที่เกิดขึ้นคือ 1.ผลการเลือกตั้งเป็นโมฆะ 2. กกต.ทำผิดกฎหมาย ต้องรับผิดทางอาญา เนื่องจากเป็นผู้รักษากฎหมายแล้วทำผิดเอง 3.ต้องรับผิดชอบทางแพ่ง คือให้จ่ายเงินในการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้ กกต.ต้องหาทางปิดช่องว่างดังกล่าวให้ได้ก่อน

“สิ่งที่กกต.จะดำเนินการก็คือ เราได้ส่งประเด็นนี้สอบถามไปยังกรธ.เพื่อให้ตอบกลับมาเป็นเอกสารให้ชัดเจน ในขณะเดียวกันจะทำจดหมายไปยังกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็นว่าความหมายของการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน หมายถึงเลือกตั้งอย่างเดียวหรือเลือกตั้งรวมประกาศผล ถ้าได้ผลตอบทั้งสองอย่าง กกต.จะมาคิดต่อว่าเราจะทำอย่างไร เราจะเชื่อหรือเราจะไม่เชื่อ เรามีคำตอบจากกฤษฎีกาในการแปลความหมายในประโยคนี้ กกต.ค่อยมาคิดต่อว่าเราจะเอาตามการตีความของทั้ง 2 หน่วยงานหรือไม่ ซึ่งคงใช้เวลาในเรื่องนี้เป็นปี ไม่กระทบการจัดการเลือกตั้งแน่นอน”

  ห่วงผู้ตรวจฯไม่คุ้นพื้นที่
นายสมชัย ยังขยายความเรื่องที่ กรธ.วางกลไกการเลือกตั้งโดยออกแบบไปให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งกับกกต.ประจำจังหวัดว่า เป็นสิ่งใหม่ในการเลือกตั้งของไทย ซึ่งทาง กรธ.บอกว่าจะเป็นนวัตกรรมใหม่ที่จะนำมาเพื่อแก้ไขการซื้อเสียง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันระหว่าง กกต.กับ กรธ.พอสมควรว่าจะเป็นผลดีหรือเป็นผลเสีย แต่ถ้าทางกรธ.ยืนยันว่าควรเป็นรูปแบบนี้เราก็ไม่ขัดอะไร และจะให้ดูเป็นข้อเท็จจริงว่าการจัดการดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

เพราะกรณีของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ประการแรก สัดส่วนเป็นคนในพื้นที่มากกว่านอกพื้นที่ ประการที่สองต้องเป็นคนที่ไม่มีการงานประจำ เป็นราชการไม่ได้ ทำงานประจำก็จะลำบากในการไปประจำในต่างจังหวัดต่างๆ ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องยากที่จะหามาทำงานนี้ได้ และยากในการไม่คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่ ไม่รู้ปัญหาในจังหวัด การทำงานในระยะสั้นๆ อาจไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวังไว้ ทั้งหมดเป็นแนวทางที่กกต.เสนอไปกับทางกรรมาธิการฯ ของสนช. ซึ่งแล้วแต่กมธ.ของสนช.จะพิจารณาอย่างไร

“ ทาง กกต.พร้อมจะปรับทุกอย่าง ไม่ว่าเลือกรูปแบบใหม่ที่มีผู้ตรวจการ หรือถ้าหากต้องการให้มี กกต.รูปแบบเดิมก็พร้อมดำเนินการทุกอย่างตามที่กฎหมายกำหนดมา อย่างไรก็ตามส่วนตัวมองว่า การเอาคนนอกพื้นที่ไปทำงาน 2 เดือนในช่วงเลือกตั้ง ความคุ้นเคยกับคนก็ไม่มี แล้วจะไปรับทราบปัญหาได้อย่างไร และยังหวังว่าเป็นกลไกเดียวที่จะทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์และเที่ยงธรรมผมว่าเขาฝันเกินไป”

ขณะที่การมีผู้ตรวจการเลือกตั้ง มองว่า 1.ไม่ต้องมีคน 2.ตระเวนในพื้นที่ได้ ให้เขามีเวลาอยู่ในพื้นที่นานพอสมควร ขณะเดียวกันควรมีกกต.จังหวัดอยู่ในพื้นที่ด้วย เพราะการเลือกตั้งไม่ใช่เลือกตั้ง 4 ปีครั้ง แต่จะต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในอนาคต ซึ่งทุกจังหวัดอาจจะมีตลอดทั้งปี บางปีมีเลือกตั้งถึง 3,000 แห่ง ถ้าเป็นอย่างนี้ เท่ากับว่าเฉลี่ยเลือกตั้งวันละ 10 แห่ง จะเอาคนที่ไหนไปตรวจตลอดเวลาขนาดนั้น แล้วต้นทุนก็จะมากกว่าเดิม

 กังวลปมคุณสมบัติ กกต.
นายสมชัย ยังแสดงความกังวลถึงประเด็นคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของกกต.ชุดปัจจุบัน เนื่องจาก กรธ.ร่างกฎหมายมาว่าให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ กกต.ชุดปัจจุบัน ถ้าใครคุณสมบัติครบก็อยู่ต่อ ใครที่ขาดคุณสมบัติก็ต้องสรรหาใหม่ ซึ่งหลักการนี้จะนำไปใช้กับทุกองค์กรอิสระ ประเด็นนี้เราเคยให้ความเห็นไปว่า ในมุมของกฎหมายดูแล้วไม่น่าเป็นแนวคิดที่ถูกต้อง เพราะเป็นกฎหมายที่มีผลย้อนบังคับในเชิงที่เป็นโทษ ซึ่งโดยปกติการออกกฎหมายไม่ควรมีผลบังคับใช้ที่ไม่เป็นโทษ เพราะคนที่ผ่านเข้ามาเข้ามาภายใต้กฎหมายฉบับหนึ่ง ที่กำหนดคุณสมบัติอย่างหนึ่ง แต่มาเปลี่ยนกฎหมายใหม่ให้ย้อนหลังการบังคับใช้ต่อเขาดูเหมือนจะไม่เป็นธรรม

ตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าให้แก้ที่ กกต.อย่างเดียว แต่มองไปที่องค์กรอิสระอื่นด้วย อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น จะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อเขา ทั้งมองว่าคนที่ทำงานอยู่เดิมน่าจะเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในการที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไปมากกว่าการสรรหามใหม่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็น กกต. ศาล และป.ป.ช.ก็ตาม

“เมื่อเราต้องการความต่อเนื่องทางการเมือง ผมไม่เชื่อว่าคุณสมบัติจะอยู่เหนือประสบการณ์ ไม่เชื่อว่าคุณสมบัติที่สูงขึ้นจะเก่งกว่าหรือทำงานได้ดีกว่า น่าจะส่งเสริมคนที่มีประสบการณ์ในการทำงานให้เขาสามารถทำงานให้ต่อเนื่องได้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,262 วันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560