ในหลวง ทรงเปิดศูนย์วิจัยฯ “ชนกาธิเบศรดำริ” ที่จังหวัดเชียงใหม่

12 ก.พ. 2566 | 13:42 น.

ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ไปทรงเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

วันนี้ (12 ก.พ.66) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

เวลา 18.42 น. ครั้นเสด็จฯ ถึง พลตรีจรัส ปัญญาดี รองแม่ทัพน้อยที่ 3 และนายทหารราชองครักษ์ กราบบังคมทูลรายงาน นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 นายปานทอง สุ่มมาตย์ พลตำรวจโท ปียะ ต๊ะวิชัย นาวาอากาศเอก วงศ์วิวัติ วัฒนวรางกูร ผู้บังคับการกองบิน 41 ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ข้าราชการและประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ

พลโทสุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 กราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นแท่นรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพ จากกองทหารเกียรติยศ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จฯ ออกจากท่อากาศยานทหาร กองบิน 41 ไปยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

ในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึงศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดข รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พลตรีสันติ สุขป้อม ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 พลตำรวจตรีธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง คณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่มูลนิธิโครงการหลวง เฝ้า ฯ รับเสด็จ

เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธนวราชบพิตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล นายภูเบศวร์ เมืองมูล หัวหน้าฝ้ายสถานีวิจัยและศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นางพรนันทน์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายสูจิบัตร แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี

ในหลวง ทรงเปิดศูนย์วิจัยฯ “ชนกาธิเบศรดำริ” ที่จังหวัดเชียงใหม่ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง กราบบังคมทูลรายงานการดำเนินงานของมูลนิธิ ฯ การก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” พร้อมทั้งกราบบังคมทูลเชิญเสด็จทรงประกอบพิธีเปิดศูนย์วิจัยฯ กราบบังคมทูลเบิก พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เข้าเฝ้าฯ ถวายแผ่นศิลา เพื่อทรงลงพระปรมาภิโธย และพระนามาภิไธย เบิกผู้ให้การสนับสนุน เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก และกราบบังคมทูลเชิญเสด็จทอดพระเนตรการปฏิบัติงานและกิจกรรมต่างๆ ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวงชนกาธิเบศรดำริ ตามลำดับ

การนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเข้าอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ชั้น 1 ทอดพระเนตรกิจกรรมการดำเนินงานของอาคารต่างๆ ผ่านระบบถ่ายทอดสัญญาณภาพ และทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวงที่เริ่มจากจุดเล็กๆสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ โดยมีผลสำเร็จจากงานวิจัย ระหว่างปีพุทธศักราช 2560-2565 

ในหลวง-พระราชินี มีองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนทางเทคโนโลยีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ 50 ชนิด 126 พันธุ์ ขยายผลสู่เกษตรกรในพื้นที่ 23 ศูนย์ สร้างรายได้กว่า 168 ล้านบาท และมีพันธุ์พืชที่ขึ้นทะเบียน 18 ชนิด 40 พันธุ์ ดังนี้ ผัก ไม้ผล ไม้ดอก พืชไร่ และพืชเครื่องดื่ม มีการจดทะเบียนสิทธิบัตร 6 รายการ ผลิตภัณฑ์ใหม่ 15 ชนิด โดยมีผลสำเร็จของงานวิจัยที่เป็นผลงานเด่น อาทิ กุหลาบ ดอกใหญ่ มีสีสันสะดุดตาปักแจกันได้นาน สตรอว์เบอร์รี่ซึ่งมี10 พันธุ์พระราชทานและสายพันธุ์ล่าสุดพระราชทาน 89 

ลักษณะเด่นคือมีสารอนุมูลอิสระ “แอโทไซยานิน” สูงกว่าพันธุ์ทั่วไป 1-2 เท่า จึงมีผลใหญ่ผิวสีแดงเข้ม คีนัวเป็นพืชใหม่ของประเทศไทยที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาชีวพันธุ์เพื่อใช้ทดแทนสารเคมีทางการเกษตรสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ผลิตผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมปัจจุบันมีชีวพันธุ์ที่ส่งเสริมเกษตรกรรวม 13 ชนิด และเครื่องต้นแบบตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างในผลผลิต ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่จากงานวิจัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหาสารเคมีตกค้างได้อย่างแม่นยำและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมีแผนขยายผลไปใช้ในศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่อไป

ในหลวงรัขกาลที่ 10

นอกจากนั้น ทอดพระเนตรพืชพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่พระราชทานต้นเอเดลไวส์ให้แก่โครงการหลวง นำมาขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ขณะนี้สามารถเจริญเติบโตได้ในประเทศไทย ที่สถานีดอยอินนท์ อ่างข่าง จนเจริญเติบโตและออกดอกได้มากกว่า 4,450 ต้น และอยู่ระหว่างการวิจัย นำดอกมาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิว และเจนเทียน พันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับพระราชทานมาพร้อมเอเดลไวส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและขยายพันธุ์เนื้อเยื่อ 

รวมทั้งพัฒนาเทคนิคการย้ายปลูกที่เหมาะสมและพืชพระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานพืช 18 ชนิด 44 พันธุ์ แบ่งเป็นกลุ่มไม้ผล 4 ชนิด กลุ่มพืชสมุนไพร 4 ชนิด กลุ่มไม้ดอกเขตหนาว 1 ชนิด และกลุ่มพืชผัก 9 ชนิด  ทดสอบการปลูกในสถานีของโครงการหลวง 5 แห่ง ซึ่งพืชบางชนิดสามารถนำไปขยายผลได้ทันที

ทั้งนี้ผลสำเร็จจากงานวิจัยนวัตกรรมและเทคโนทางเทคโนโลยีพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ ไม่ได้นำมาซึ่งคุณค่าทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังนำมามาสู่การการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสังคม โดยน้อมนำพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสู่การพัฒนาหัตถกรรมโครงการหลวง วิจัยความก้าวหน้าและพัฒนากัญชงให้มีต้นทุนต่ำด้วย ลดขั้นตอนการทำเส้นใย จึงทำให้ราคาจับต้องได้ เมื่อได้เส้นใยจึงนำมาทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยผสมกับเส้นใยธรรมชาติอื่นๆ ย้อมด้วยสีธรรมชาติ โดยใช้กี่ 4 แบบ ตามแต่ละชุมชน 

ด้านภาคสังคม มีโครงการวัคซีนวัยรุ่น เนื่องจากบางพื้นที่อยู่ติดกับแนวชายแดน มีความเสี่ยงต่อการติดยาเสพติด จึงเน้นสร้างความเข้าใจให้กับเยาวชนในพื้นที่ให้ห่างไกลจากยาเสพติด ด้วยการสร้างผู้นำเยาวชนต้นแบบ จำนวน 150 คนเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนรุ่นน้องให้ห่างไกลจากยาเสพติด อีกทั้งให้การสนับสนุนอาชีพเพื่อไม่หันกลับไปทำความผิดซ้ำ

ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการสวมหมวกให้ดอย เป็นกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจให้แก่เกษตรกรมีความหวงแหนป่าถ้าทำลายป่าก็ทำลายชีวิต ด้วยการน้อมนำแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อสร้างให้ชาวบ้านเกิดความรักและหวงแหนป่าไม้ จัดทำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ 

นอกจากนี้ ยังใช้ดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อจับพิกัดแปลงของเกษตร ติดตามการรอดตายของต้นไม้ ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ผ่านภาพถ่ายดาวเทียม รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่การประเมินคาร์บอนเครดิต เพื่อคำนวณการลดการดูดซับก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ

เวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังแท่นพิธีทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้าย “ชนกาธิเบศรดำริ” ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก 

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวงกราบบังคมทูลเบิก ผู้ให้การสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก จำนวน 100 ราย พระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ

พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เข้าเฝ้าฯ ถวายแผ่นศิลา เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธย ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในแผ่นศิลาเสด็จ ฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังบริเวณปลูกต้นไม้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี ทรงปลูกต้นรวงผึ้ง จำนวน 1 ต้น เสด็จเข้าอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ ชั้น 1 ทอดพระเนตรนิทรรศการผลงานวิจัยของมูลนิธิโครงการหลวง ตามพระราชอัธยาศัย เสด็จขึ้นชั้น 2  เสด็จเข้าห้องรับรอง

ในหลวง ทรงเปิดศูนย์วิจัยฯ “ชนกาธิเบศรดำริ” ที่จังหวัดเชียงใหม่

ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก ประทับพักพระราชอิริยาบถ ตามพระราชอัธยาศัย เสด็จออกจากห้องรับรอง ไปยังห้องเอนกประสงค์ เสด็จเข้าห้องเอนกประสงค์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงรับฟังการถวายรายงานเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์อาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ เสด็จออกจากห้องเอนกประสงค์ ไปยังห้องรับรอง เสด็จลงชั้น 1 ฉายพระบรมฉายาลักษณ์ร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และคณะกรรมการมูลนิธิฯ ผู้บริหารของมูลนิธิฯ และผู้สนับสนุนการก่อสร้างอาคาร 

นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีและประธานกรรมการมูลนิชิโครงการหลวง ทูลเกล้าฯ  ถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรีและประธานกรรมการบริหารมูลนิธิ โครงการหลวงทูลเกล้าฯ ถวายของที่ระลึก แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออกจากบริเวณฉายพระบรมฉายาลักษณ์ ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินออกจากศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” ไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 

เมื่อรถยนต์พระที่นั่งถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นแท่นทรงรับการถวายความเคารพจากกองทหารเกียรติยศ ประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จฯ ออกจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ กลับพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต