วันครอบครัวแห่งชาติ 14 เมษายน 67 ย้อนประวัติ-ความหมายอันลึกซึ้ง

13 เม.ย. 2567 | 17:05 น.

14 เมษายนของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น "วันครอบครัวแห่งชาติ" ย้อนประวัติ ที่มาและความสำคัญของวันนี้เพื่อเข้าใจและเห็นคุณค่าของสถาบันครอบครัวที่เป็นรากฐานของสังคมไทย

วันครอบครัวแห่งชาติ วันที่ 14 เมษายนของทุกปี หรือ นิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า วันครอบครัว นั้น นับเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ 2567 ที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัว แล้ววันสำคัญ วันครอบครัวนี้ ถูกกำหนดขึ้นครั้งแรก เมื่อใดและมีความเป็นมาอย่างไร อ่านรายละเอียดได้ที่นี่  

ประวัติวันครอบครัว

ในอดีตคนไทยจะอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ที่ประกอบด้วย ปู่ ยา ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง และเครือญาติ อาศัยรวมกันอยู่ในบริเวณเดียวกัน ความใหญ่เล็กของบ้านจะขึ้นอยู่กับจำนวนคน มีการต่อเติมขนาดของบ้านออกไปเรื่อย ๆ ตามจำนวนคนที่เพิ่มขึ้น เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ ๆ ก็มักจะไปทำบุญที่วัดใกล้บ้านโดยมีญาติพี่น้องในครอบครัวช่วยกันทำข้าวปลาอาหารเพื่อนำไปทำบุญ ขณะที่ก็จะแบ่งปันแจกจ่ายให้กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน

ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้วิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยปรับเปลี่ยนไปจากเดิม สมาชิกในครอบครัวต่างต้องทำมาหาเลี้ยงชีพ ขณะที่คนวัยหนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้ต้องทิ้งพ่อแม่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง ทำให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง

กระทั่งในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2532 คณะรัฐมนตรี (ครม.) สมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีซึ่งได้เห็นชอบและอนุมัติ ให้วันที่ 14 เมษายนของทุกปี เป็น "วันแห่งครอบครัว" ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ของไทยเนื่องจากเล็งเห็นว่า เป็นวันที่สมาชิกในครอบครัวมีโอกาสได้กลับไปบ้านและพบปะกันได้โดยสะดวก

ทั้งนี้ การที่ ครม. ได้มีมติและอนุมัติให้วันดังกล่าว เป็นวันครอบครัวแห่งชาติ นั้น เนื่องจากคณะกรรมมาธิการกิจการสตรีและเยาวชน สภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปผลจากการศึกษาปัญหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนว่า ปัญหาครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่สำคัญที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหายาเสพติด อาชญากรรมและปัญหาอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากครอบครัวที่ไม่มีความอบอุ่น ขัดแย้ง และความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

อีกทั้งลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ หนุ่มสาวที่อยู่ต่างจังหวัดก็เข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำ ทำให้พ่อแม่ที่ชราภาพต้องอยู่ตามลำพัง ขณะเดียวกันพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับลูก และครอบครัว ก็ไม่มีเวลาสั่งสอนอบรมบุตรลูก เหล่านี้ล้วนสร้างปัญหาให้กับสังคมได้นั่นเอง

"วันครอบครัว" ถูกกำหนดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2532

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2532 วันที่ 31 ตุลาคม คณะรัฐมนตรี ซึ่งในขณะนั้น พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยคุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เสนอที่ประชุมครม. และได้มีมติพิจารณาให้วันที่ 14 เม.ย. ของทุกปี เป็น "วันครอบครัว" ซึ่งจะอยู่ในช่วง "เทศกาลวันสงกรานต์" หรือ "วันปีใหม่ไทย" 

ความสำคัญของวันครอบครัว

ครอบครัว คือ สถาบันมูลฐานของมนุษย์ชาติ เป็นหน่วยขนาดเล็กที่สุดของสังคม เป็นผู้สร้างและกำหนดสถานภาพ สิทธิ หน้าที่ของบุคคลอันพึงปฏิบัติต่อกันในสังคม ทั้งยังเป็น สถาบันแห่งแรกในการถ่ายทอดวัฒนธรรมและพัฒนาคนในครอบครัว

รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถาบันครอบครัวจึงได้กำหนด "วันครอบครัวแห่งชาติ" ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของครอบครัวให้มากขึ้น แม้ว่าวิถีชีวิตของคนในสังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงใด สถาบันครอบครัว ก็ยังคงเป็นสถาบันหลักที่มีความสำคัญและเป็นสถาบันแรกเริ่มในการบ่มเพาะบุคลากร ทรัพยากรบุคคลที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศ นั่นเอง