“มช.”ตั้งเป้าปี 70 ปั้น 480 สตาร์ทอัพ สู่ตลาดโลก

01 มี.ค. 2567 | 09:13 น.

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสริมทัพ จับมือกลุ่มนักลงทุน “EAC”พร้อมลงทุนสตาร์ทอัพโปรแกรม Basecamp24 เร่งสร้างโอกาสสู่บริษัทชั้นนำในประเทศ ดันก้าวสู่ตลาดโลก ตั้งเป้าปี 2027 สร้างสตาร์ทอัพ 480 บริษัท

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โดย อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STeP)  ในฐานะผู้นำด้านการสร้างโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด หรือ “EAC” บริษัทที่ปรึกษาครบวงจร สำหรับสตาร์ทอัพและนักลงทุนในประเทศไทย ร่วมกันสร้างเส้นทางการเติบโตในธุรกิจกลุ่ม Startups และ SMEs รวมถึงระบบนิเวศทางด้านธุรกิจ (Startup Ecosystem) พร้อมเร่งศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการสตาร์ทอัพให้พร้อมเติบโตออกสู่ระดับโลก 

ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า  Ecosystem และJourney ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มอบหมายให้ทีมนวัตกรรมเป็นฐานในการผลักดันนวัตกรรมสตาร์ทอัพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  โดยปักหมุดเป็นมหาวิทยาลัยหนึ่งในประเทศไทยในการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมที่สุดในการส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยมุ่งผลักดันสตาร์ทอัพในรั้วมหาวิทยาลัย ภายใต้โปรแกรม “builds” (CMU Startup & Entrepreneurial Platform) 
 

รองอธิการบดี มช. กล่าวต่ออีกว่า " Basecamp24 " ถือว่าเป็นโปรแกรมที่ประสบความสำเร็จมากในการปั้นธุรกิจ สตาร์ทอัพ ในภาคเหนือ จุดมุ่งหมายสูงสุดที่ตั้งไว้ คือ ปูเส้นทางเพื่อพาธุรกิจสตาร์ทอัพ  และ SMEs เติบโตไปไกลถึงระดับโลก และสามารถแข่งขันในตลาดที่สูงขึ้นได้ ซึ่งยังต้องอาศัยการผลักดันจากหลายภาคส่วน และความร่วมมือกับ EAC ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเร่งการเติบโตของธุรกิจอย่างก้าวกระโดด และเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการได้เข้าถึงที่ปรึกษาธุรกิจที่มีศักยภาพระดับแนวหน้าของประเทศ สามารถเชื่อมโยงนักลงทุนกับผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจไปสู่จุดหมายเดียวกัน โดยตั้งเป้าปี 2027 จะมีสตาร์ทอัพ 480 บริษัท จะทำให้เศรษฐกิจในเชียงใหม่หมุนเวียน และจะสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่  

“มช.”ตั้งเป้าปี 70 ปั้น 480 สตาร์ทอัพ สู่ตลาดโลก

นายวรนันท์ ถาวรนันท์ กรรมการบริษัท อองเทรอเพรอเนอ แอดไวเซอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา EAC มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ  สตาร์ทอัพและ SMEs เราจึงตั้งเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจเหล่านี้มากขึ้น โดยการผนึกกำลังร่วมกับอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งเสริมความสามารถให้กับผู้ประกอบการ ผ่านความเชี่ยวชาญอย่างครบครันทุกด้าน

อาทิ ด้านการเงินการลงทุน ด้านธุรกิจ และด้านกฎหมาย เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การระดมทุนในตลาดทุน เตรียมตัวเข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากหลายแหล่งอย่าง Venture Capital (VC) หรือ Corporate Venture Capital (CVC) ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.ปิติวัฒน์ วัฒนชัย ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) เผยว่า การบริหารจัดการระบบนิเวศทางธุรกิจที่เพียบพร้อมด้วยโครงสร้างพื้นฐานนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนผู้ประกอบการ

โดยอุทยานฯ มีโครงสร้างพื้นฐานรายล้อมด้วยระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสตาร์ทอัพ  อย่างพื้นที่สำหรับทำงาน  แบบเพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ไอเดีย (The Brick Series) พื้นที่สร้างสรรค์ตัวอย่างการขึ้นรูปชิ้นงาน (The Brick FABLAB) พื้นที่สำนักงาน  ที่พร้อมรองรับสตาร์ทอัพในทุกระดับการเติบโต รวมทั้งมี "Basecamp24" พื้นที่สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างครบวงจร 24 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันได้ผลักดันให้มีการจัดตั้งบริษัท  สตาร์ทอัพ ได้แล้วถึง 378 ราย และสร้างรายได้รวม 4,379 ล้านบาท

“มช.”ตั้งเป้าปี 70 ปั้น 480 สตาร์ทอัพ สู่ตลาดโลก