ย้อนมติครม. 3 ปี ก่อน ยูเนสโก ประกาศ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรม

06 ธ.ค. 2566 | 09:33 น.

ย้อนมติครม. 3 ปี กระทรวงวัฒนธรรม เสนอขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก เช็คความเป็นมากว่าจะถึงวันที่ไทยได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการ

ข่าวดีประเทศไทย ภายหลัง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

ทำให้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ถูกบรรจุรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้กับไทยไปแล้ว 3 รายการ นั่นคือ

  • ปี 2561 : “โขน” (Khon, masked dance drama in Thailand) 
  • ปี 2562 : “นวดไทย” (Nuad Thai, Traditional Thai Massage) 
  • ปี 2564 : “โนรา” ของภาคใต้ (Nora, Dance Drama in Southern Thailand) 

สำหรับการเสนอเทศกาล “สงกรานต์ในประเทศไทย” เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ นั้น ต้องย้อนในถึงปี 2563 หลังจากกระทรวงวัฒนธรรม ได้เสนอเรื่องเข้ามายังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเดือนมีนาคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ แยกเป็นด้านต่าง ๆ ฐานเศรษฐกิจขอสรุปรายละเอียดดังนี้ 

 

ย้อนมติครม. 3 ปี ก่อน ยูเนสโก ประกาศ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรม

 

1. คุณค่าความสำคัญ สงกรานต์ในประเทศไทย 

กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า สงกรานต์ในประเทศไทย เป็นประเพณีที่สัมพันธ์ กับการเปลี่ยนผ่านของวิถีชีวิตและวิถีทางการเกษตรของคนไทยที่นับถือพุทธศาสนา โดยวันสงกรานต์ กำหนดขึ้นจากความรู้ในการคำนวณปฏิทินแบบสุริยคติของนักโหราศาสตร์ไทย ซึ่งคำนวณรู้วันการเคลื่อนย้ายของพระอาทิตย์เข้าสู่ราศีใหม่ ซึ่งวันปีใหม่ของคนไทยหมายถึงวันและเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ในเดือนเมษายน 

ประกอบกับสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม โดยภายหลังจากฤดูเก็บเกี่ยวในเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ว่างเว้นจากการทำเกษตรกรรม และเตรียมต้อนรับความอุดมสมบูรณ์แห่งฤดูกาลเพาะปลูกที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นใหม่ ผู้คนจึงถือโอกาสนี้ตอบแทนคุณของบรรพบุรุษที่ช่วยปกปักรักษาลูกหลานให้อยู่ดีมีสุขในรอบปีที่ผ่านมา ด้วยการประกอบพิธีที่แสดงถึงความกตัญญูกตเวที 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่ามุขปาฐะที่สืบทอด เกี่ยวกับที่มาของวันสงกรานต์และนางสงกรานต์ ชี้ให้เห็นถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบุพการี กิจกรรม ในวันสงกรานต์ ประกอบด้วยพิธีกรรมและการเฉลิมฉลองคนไทยกลุ่มต่าง ๆ ทุกเพศทุกวัยทั่วประเทศ ซึ่งตระหนักในความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษและนับถือพุทธศาสนา

โดยจัดขึ้นตามขนบธรรมเนียมของแต่ละชุมชนท้องถิ่น ณ สถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ บ้าน วัด และชุมชน มีระยะเวลาประมาณ 3-5 วัน กิจกรรมต่าง ๆ จะใช้น้ำเป็นสัญลักษณ์ของความศักดิ์สิทธิ์เพื่อชำระล้างสิ่งชั่วร้าย และเพื่อก่อให้เกิดสิริมงคล และแสดงความปรารถนาดีต่อกัน

 

ย้อนมติครม. 3 ปี ก่อน ยูเนสโก ประกาศ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรม

 

2. ชื่อชุมชน/คณะ/กลุ่มบุคคลหรือปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง 

ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ คือ กลุ่มคนไทยทั่วประเทศซึ่งนับถือพุทธศาสนาและตระหนักในความกตัญญูและการสืบสานประเพณี ประกอบด้วย 

  • กลุ่มคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มคนไทย ล้านนาในภาคเหนือ กลุ่มคนไทยอีสานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มคนไทยในภาคกลาง กลุ่มคนไทยพุทธ ในภาคใต้ 
  • กลุ่มคนไทยที่มีเชื้อสายชาติพันธุ์ต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มคนไทยเชื้อสายมอญ กลุ่มคนไทยเชื้อสายล่าว กลุ่มคนไทยเชื้อสายเขมร 
  • กลุ่มผู้สืบทอดความรู้เฉพาะด้าน ได้แก่ กลุ่มนักโหราศาสตร์ กลุ่มช่างฝีมือ เช่น ช่างแกะสลัก ช่างทำเครื่องหอม ช่างเครื่องสดพวงมาลัย ช่างทำตุง กลุ่มผู้ประกอบอาหาร 
  • กลุ่มผู้เข้าร่วมประเพณี ประกอบด้วย ประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งองค์กรภาครัฐและเอกชนในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

3. พื้นที่และขอบเขตอาณาบริเวณของเรื่องที่นำเสนอ 

ประเพณีสงกรานต์ มีการเฉลิมฉลองทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยตามภูมิหลังทางวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน พื้นที่ที่โดดเด่นสำคัญ ได้แก่ 

  • ภาคเหนือของประเทศไทยหรือล้านนา เช่น ชุมชนไทยในจังหวัดเชียงใหม่ 
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หรือภาคอีสาน เช่น ชุมชนไทยในจังหวัดขอนแก่น 
  • ภาคกลางของประเทศไทย เช่น ชุมชนไทยในกรุงเทพ ฯ และจังหวัดชลบุรี และชุมชนไทยมอญ ในจังหวัดสมุทรปราการ
  • ภาคใต้ของไทย เช่น ชุมชนชาวไทยพุทธในจังหวัดนครศรีธรรมราช 

 

ย้อนมติครม. 3 ปี ก่อน ยูเนสโก ประกาศ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรม

 

4. คุณสมบัติที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณา

ข้อที่ 1 ประเทศผู้เสนอพึงกำหนดว่า เรื่องที่นำเสนอนี้สอดคล้องกับลักษณะของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่นิยามไว้ในมาตรา 2 ของอนุสัญญาฯ โดยสงกรานต์ในประเทศไทยสอดคล้องกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมใน 4 ลักษณะ คือ ธรรมเนียมและการแสดงออกทางมุขปาฐะ, การปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม งานเทศกาล, ความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติ และจักรวาล และ งานช่างฝีมือดั้งเดิม

ข้อที่ 2 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า การขึ้นทะเบียนเรื่องที่นำเสนอนี้จะเป็นคุณประโยชน์และส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แสดงถึงความหลากหลาย ทางวัฒนธรรมอย่างกว้างขวางทั่วโลก ทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างสรรค์ของมนุษย์ การขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติครั้งนี้จะเป็นการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ เรื่องอัตลักษณ์และความหลากหลายของแต่ละภูมิภาคที่มีการเฉลิมฉลองประเพณีสงกรานต์ใกล้เคียงกัน 

รวมทั้งนำไปสู่ความร่วมมือ การเรียนรู้ และแบ่งปันซึ่งกันและกัน เกิดความภาคภูมิใจ และหวงแหนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ เกิดการถ่ายทอด สืบทอดอย่างยั่งยืน ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา และการศึกษาตามอัธยาศัย ทำให้เกิดการฟื้นฟูกิจกรรมในบางท้องถิ่นที่ใกล้สูญหาย 

รวมถึงการสร้างสรรค์ ปรับประยุกต์ประเพณีให้สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงในมิติประวัติศาสตร์ ปรัชญา โหราศาสตร์ งานช่างฝีมือ การพัฒนาสังคม การปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ซึ่งมีรายละเอียด แตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น 

ดังนั้น การขึ้นทะเบียนสงกรานต์ในประเทศไทยจะกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ทางวัฒนธรรม ทั้งในประเทศที่มีความเชื่อที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ตลอดจนเปิดโอกาสให้ ทุกกลุ่มคนได้เข้าร่วมประเพณีอย่างทั่วถึงเท่าเทียมกัน

ข้อที่ 3 ประเทศผู้เสนอจะต้องแสดงถึง มาตรการส่งเสริมและ รักษาอย่างละเอียดสามารถจะคุ้มครองและส่งเสริมเรื่องที่นำเสนอ โดยมาตรการสงวนรักษาประเพณีสงกรานต์จะคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม บทบาทหน้าที่ของคนในสังคม บริบทการพัฒนา ของสังคม เพื่อให้ประเพณีสงกรานต์ดำรงอยู่อย่างกลมกลืนในสังคมร่วมสมัย โดยยังคงรักษาคุณค่า สาระสำคัญ และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมไว้ได้ โดยมีแนวทางสำคัญดังนี้ 

การสร้างความตระหนักรู้ในสาระคุณค่า ของประเพณีสงกรานต์ ประกอบด้วย การรวบรวมและจัดเก็บองค์ความรู้มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ทั่วภูมิภาคของประเทศ การสร้างความตระหนักรู้ในสาระคุณค่าของประเพณี สงกรานต์ที่ถูกต้อง

รวมทั้งการจัดทำหลักสูตรมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดไปยังคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ เช่นเดียวกับการพัฒนาศักยภาพบุคคล กลุ่มบุคคล ชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับประเพณีสงกรานต์ ประกอบด้วย การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ การจัดประชุมผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการจัดประเพณีสงกรานต์ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การอบรมให้ความรู้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ทั้งในส่วนกลางและในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดประเพณีสงกรานต์ 

การบริหารจัดการประเพณีสงกรานต์ โดยการบริหารการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในประเพณีสงกรานต์ ให้มีความร่วมสมัยและยังคงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ที่สืบทอดกันมา

 

ย้อนมติครม. 3 ปี ก่อน ยูเนสโก ประกาศ “สงกรานต์ไทย” เป็นมรดกวัฒนธรรม

 

ข้อที่ 4 ประเทศผู้เสนอพึงแสดงให้เห็นว่า เรื่องที่นำเสนอนั้น ชุมชน กลุ่มคน และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง มีส่วนร่วม ทั้งได้รับทราบ ให้ความเห็นชอบและยินยอม พร้อมใจอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยในประเทศไทยทั้ง 4 ภูมิภาค โดยมีตัวแทนจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมาร่วมประชุมใน 5 จังหวัดหลักที่มีการปฏิบัติประเพณีสงกรานต์ที่โดดเด่น คือ ชลบุรี และสมุทรปราการ (ภาคกลาง) เชียงใหม่ (ภาคเหนือ) ขอนแก่น (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) นครศรีธรรมราช (ภาคใต้) 

โดยผู้เข้าร่วมประชุมมาจากกลุ่มคนทุกเพศทุกวัยและหลากหลาย ได้แก่ ผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ศิลปินแห่งชาติ ครูภูมิปัญญา พระสงฆ์ นักวิชาการ ครูอาจารย์ เยาวชน ผู้แทนจากองค์กรภาครัฐ และภาคเอกชนต่าง ๆ ในภูมิภาค ในฐานะผู้สืบทอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาเข้าร่วมประชุม ด้วยความยินดีและเต็มใจที่จะเสนอ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการ เพื่อเสนอครั้งนี้ 

โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำท้องถิ่นในการประสานงานอย่างเข้มแข็ง แสดงถึงความจริงใจ และการยินยอมพร้อมใจในการเสนอการขึ้นทะเบียนรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ พร้อมทั้งได้รวบรวมใบยินยอมของคนกลุ่มต่าง ๆ มาเป็นหลักฐานที่แสดงเจตนาของผู้สืบทอดที่ต้องการให้ประเพณีสงกรานต์ได้รับการขึ้นทะเบียน 

ทั้งนี้ ก่อนการขอความยินยอม ได้มีการประชุม ชี้แจง ทำความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ของประเพณีสงกรานต์ในบริบทปัจจุบันจากคนในกลุ่มสาขาอาชีพต่าง ๆ เพศ และวัยต่าง ๆ นอกจากนี้ยังได้มีการให้ความรู้เรื่องความสำคัญและกระบวนการ การขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก และกระบวนการทำงานของรัฐบาลไทย เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติมให้แก่ชุมชนด้วย