ลงทะเบียน"เงินอุดหนุนบุตร" -"เงินสงเคราะห์บุตร" เช็คช่องทางสมัครที่นี่

11 ก.ย. 2566 | 10:38 น.

เงินอุดหนุนบุตร 600 บาท เงินสงเคราะห์บุตร 800 บาท ลงทะเบียนรับสิทธิอย่างไร เช็คคุณสมบัติ หลักฐานเอกสารประกอบ ช่องทางการลงทะเบียนที่นี่

พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้!สิทธิในการรับเงินอุดหนุนบุตร เดือนละ 600 บาท และ เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท ทำอย่างไรถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินช่วยเหลือเยียวยาก้อนนี้  วันนี้ "ฐานเศรษฐกิจ"จึงได้รวบรวมข้อมูล เงื่อนไขในการสมัครลงทะเบียนมามัดรวมนำเสนอ  อย่างไรก็ดีก่อนจะลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือเยียวยาทั้งเงินอุดหนุนบุตร และ เงินสงเคราะห์บุตร ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่าทั้ง 2 โครงการมีวัตถุประสงค์ หรือ มีกระทรวงมีกรมใดเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ดังต่อไปนี้ 

เงินอุดหนุนบุตร 

  • ดำเนินการโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 
  • วัตถุประสงค์เพื่อจัดสวัสดิการพื้่นฐานแก่เด็กแรกเกิด โดยรัฐบาลจะมอบเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กต่อเนื่องตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนยากจนซึ่งมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในอัตราเดือนละ 600 บาทต่อคน

เงินสงเคราะห์บุตร

  • ดำเนินการโดย สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน 
  • วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ,มาตรา 39 และมาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3) ที่ขึ้นทะเบียนกับประกันสังคม โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือในอัตราเดือนละ 800 บาท (ม.40 จ่ายสมทบเดือนละ 300 บาท จะได้รับเงินสงเคราะห์บุตร 200 บาทต่อเดือน)
     

เช็ควิธีลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร -เงินสงเคราะห์บุตร ที่นี่

เมื่อรู้กันแล้วว่า เงินช่วยเหลือของทั้ง  2 โครงการใครเป็นเจ้าภาพ ต่อมาก็มาดูกันว่าคุณสมบัติของพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะลงทะเบียนขอรับเงินนั้น จะต้องมีอะไรบ้าง 

เงินอุดหนุนบุตร เดือนละ 600 บาทต่อเดือน

คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน
ผู้ปกครอง 

  • เป็นบิดา มารดา หรือ บุคคลอื่นที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
  • เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
  • อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี )
  • ผู้ปกครองรับเงินผ่านบัญชีที่ผูกบริการพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน

เด็กแรกเกิด 

  • เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี มีสัญชาติไทย
  • อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
  • ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐและเอกชน 

การลงทะเบียน ณ หน่วยรับลงทะเบียนตามจุดต่างๆได้แก่ 
กรุงเทพมหานคร 

  • ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต

เมืองพัทยา 

  • ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ส่วนภูมิภาค 

  • ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล

 

เอกสารประกอบการลงทะเบียน ณ หน่วยลงทะเบียน
1.แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
2.แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
3.สูติบัตรเด็กแรกเกิด
4.บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครอง
5.ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานบริษัท 
6.สำเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตำแหน่ง หรือเอกสารอื่นใด ที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2


ลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร

การลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเงินเด็ก

  • ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน รองรับทั้งระบบ IOS และ Android 
     

เอกสารประกอบการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเงินเด็ก
ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเงินเด็ก โดยให้ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ก่อน(การยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA จะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนก่อนในครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือ สำนักงานเขต) พร้อมแนบเอกสารในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐาน ดังต่อไปนี้ 


1.หลักฐานในการรับรองสถานะครัวเรือน พร้อมภาพถ่ายบัตรประจำตัวเจ้าที่ของรัฐ บัตรหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงสถานะ หรือ ตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2 


2.ใบรับรองเงินเดือน หรือ หนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือที่มีรายได้น้อยทุกคน กรณที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือ พนักงานบริษัท 

 

ตรวจสอบสถานะสิทธิการรับเงินเงินหนุนบุตรผ่าน 3 ช่องทาง 

  • ผ่านเว็บลิงค์ เว็บไซต์กรมกิจการเด็กและเยาวชน (คลิกที่นี่)
  • ผ่านแอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" (ดาวน์โหลดแอปฯ“ทางรัฐ” คลิกที่นี่)
  • ผ่านแอปพลิเคชัน“เงินเด็ก”(ดาวน์โหลดแอปฯ “เงินเด็ก” ได้ที่ AppStore และ PlayStore)

เช็คสิทธิสถานะการลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนบุตร

 

 

เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาทต่อเดือน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

  • ต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือ มาตรา 39 หรือ มาตรา 40 (ทางเลือกที่ 3 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 300 บาท กลุ่มนี้จะได้รับเงินช่วยเหลือ 200 บาทต่อเดือน)
  • จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือน ก่อนเดือนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน 
  • ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ยกเว้น บุตรบุญธรรมหรือบุตรซึ่งยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่น
  • อายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จำนวนคราวละไม่เกิน 3 คน เว้นแต่ผู้ประกันตนเป็นผู้ทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่บุตรมีอายุแรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์ จะมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนต่อจนอายุ 6 ปีบริบูรณ์

หลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร
1.แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
2.กรณีผู้ประกันตนเคยยื่นใช้สิทธิแล้วและประสงค์จะใช้สิทธิสำหรับบุตรคนเดิม ให้ใช้หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน จำนวน 1 ฉบับ
3.กรณีผู้ประกันตนหญิงใช้สิทธิ

  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย) จำนวน 1 ชุด

4.กรณีผู้ประกันตนชายใช้สิทธิ

  • สำเนาทะเบียนสมรส หรือสำเนาทะเบียนหย่าพร้อมบันทึกแนบท้ายของผู้ประกันตนหรือสำเนาทะเบียนรับรองบุตร หรือสำเนาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาสูติบัตรบุตร (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วยจำนวน 1 ชุด)

5.กรณีเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลให้แนบสำเนาเอกสารใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลด้วย จำนวน 1 ชุด
6.กรณีผู้ประกันตนต่างชาติขอรับประโยชน์ทดแทนให้ใช้สำเนาบัตรประกันสังคมและสำเนาหนังสือเดือนทาง (passport) หรือสำเนาหนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารรับรองบุคคลที่ทางราชการออกให้ จำนวน 1ชุด
7.สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกที่มีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ จำนวน 1 ฉบับ ผ่านทางบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ดังนี้
พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน

  • ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
  • ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)                 
  • ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)              
  • ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)              
  • ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)              
  • ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)             
  • ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย                 
  • ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) 

เอกสารประกอบการยื่นคำขอฯ ที่เป็นสำเนาให้รับรองความถูกต้องของสำเนาทุกฉบับ และแสดงเอกสารที่เป็นต้นฉบับเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ กรณีเอกสารหลักฐานสำคัญต่อการพิจารณาเป็นภาษาต่างประเทศให้จัดทำคำแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้องให้ครบถ้วน

เงินสงเคราะห์บุตร เดือนละ 800 บาท

ขั้นตอนการขอรับประโยชน์ทดแทน
1.ผู้ประกันตนต้องกรอกแบบ สปส.2-01 พร้อมลงลายมือชื่อและนำมายื่นที่

  • สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่
  • สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา
  • ยื่นขอรับทางไปรษณีย์โดยมีหลักฐานครบถ้วน

กรณีผู้ประกันตนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรสำหรับบุตร 3 คน ในคราวเดียวกันสามารถใช้แบบคำขอฯ ชุดเดียวกันได้


2.เจ้าหน้าที่ตรวจหลักฐานและพิจารณาอนุมัติ
3.สำนักงานประกันสังคมมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณา
4.พิจารณาสั่งจ่าย จ่ายเป็นรายเดือนโดยโอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์ของผู้ขอรับประโยชน์ทดแทน

สถานที่ยื่นเรื่องขอรับประโยชน์ทดแทน

  • ยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่
  • สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขา ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข)

กรณีการหมดสิทธิรับเงินกรณีสงเคราะห์บุตร

  • เมื่อบุตรมีอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์
  • บุตรเสียชีวิต
  • ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของคนอื่น
  • ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

 

อนึ่งกรณีที่ผู้ประกันตนออกจากงาน เงินสงเคราะห์บุตรจะหยุดจ่าย แต่ต่อมาหากเข้าทำงานกับนายจ้างใหม่ หรือ สมัครมาตรา 39 ต้องยื่นเอกสาร ขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่ที่สะดวก (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) 

 

การขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนใหม่นั้น บุตรจะต้องอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้จะได้รับสิทธิสงเคราะห์บุตรย้อนหลังไม่เกิน 2 ปีและได้รับเงินเฉพาะเดือนที่ผู้ประกันตนมีการนำส่งเงินสมทบเท่านั้น

หลักฐานที่ใช้ในการยื่นเรื่อง

  • หนังสือขอใช้สิทธิบุตรคนเดิม กรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน
  • บัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงของผู้ประกันตน

 

ระยะเวลาการอนุมัติสิทธิกรณีสงเคราะห์บุตร 
ในการยื่นครั้งแรก และ การยื่นเรื่องขอใช้สิทธิบุตรคนเดิมกรณีกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน หากยื่นเอกสารครบถ้วน มีคุณสมบัติเป็นไปตามเงื่อนไข และไม่ติดสถานะค้างชำระ กรณีประกันสังคมติดตามเงินประโยชน์ทดแทนเกินสิทธิ เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบสิทธิและเงินสมทบ ข้อมูลการเข้า-ออกงานของผู้ประกันตนภายใน 3 เดือน โดยเงินจะเข้าบัญชีธนาคารภายในสิ้นเดือนที่ 4 (เช่น ผู้ประกันตนมีสิทธิเดือนกันยายน เงินสงเคราะห์บุตรของเดือนกันยายน จะโอนเข้าบัญชีธนาคารให้ผู้ประกันตนในสิ้นเดือนธันวาคม) 

 

อีกหนึ่งช่องทางที่พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร คือช่องทางออนไลน์ ผ่าน e-Self Service โดยมี  6 ขั้นตอน 

1.เข้าเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th (คลิกที่นี่)
2.กด "เข้าระบบผู้ประกันตนประกันสังคม"
3.เลือกระบบ "e-Self Service"
4.เลือก "ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุนประกันสังคม"
5.เลือก"สงเคราะห์บุตร"
6.กรอกข้อมูลให้ครบถ้วน แล้วอัพโหลดเอกสาร

ลงทะเบียนรับเงินสงเคราะห์บุตร


 

ที่มาข้อมูล-ภาพ

  • สำนักงานประกันสังคม 
  • โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด