คืนนี้! "ดาวเสาร์" ราชาวงแหวนแห่งระบบสุริยะใกล้โลกมากที่สุด

27 ส.ค. 2566 | 03:11 น.

ต้องห้ามพลาด ชมปรากฏการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี" คืนนี้ 27 ส.ค. 2566 พร้อมเฉลยที่มาทำไม "ดาวเสาร์" จึงได้รับฉายา "ราชาแห่งวงแหวน" ในระบบสุริยะจักรวาล คลิกอ่านได้ที่นี่

ในเดือนสิงหาคม 2566 มีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจหาชมได้ยากโดยในวันอาทิตย์ที่ 27 สิงหาคม 2566 นี้คนไทยทั่วประเทศจะได้เห็นกัน นั่นก็คือ ปรากฎการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี"

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการและสื่อสารทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สดร. เปิดเผยว่า มี 2 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ให้คนไทยได้ติดตามกันในเดือนสิงหาคมนี้ซึ่งหนึ่งในนั้นจะเกิดขึ้นในวันที่ 27 สิงหาคม 2566 นั่นก็คือ "ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี"

"ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" นี้เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง

ส่งผลให้ดาวเสาร์ มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตรในวันดังกล่าว หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าจะมองเห็นดาวเสาร์ปรากฏสว่างอยู่ทางทิศตะวันออก 

สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากฟ้าใสไร้ฝน ดูได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยาย 30 เท่าขึ้นไป จะเห็นวงแหวนที่โดดเด่น ชัดเจน และหากใช้กำลังขยายตั้งแต่ 100 เท่าขึ้นไปจะมองเห็นแนวช่องว่างภายในวงแหวน นั่นคือ ช่องว่างแคสสินี ที่แบ่งระหว่างวงแหวนชั้น A และชั้น B รวมถึงสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์ของดาวเสาร์ได้

ที่มาของคำว่า "ราชาแห่งวงแหวน" 

ในระบบสุริยะจักรวาล มีดาวเคราะห์ 4 ดวงที่มีระบบวงแหวน ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน อย่างไรก็ดี แม้ในระบบสุริยะจะมีดาวที่มีระบบวงแหวน แต่ดาวเสาร์กลับได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชาวงแหวนแห่งระบบสุริยะ" ที่สามารถมองเห็นส่วนของวงแหวนได้ชัดเจนและโดดเด่น

สาเหตุมาจากวงแหวนของดาวเสาร์นั้น มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็งซึ่งสะท้อนแสงได้ดีต่างจากวงแหวนของดาวเคราะห์อื่น ๆ ที่มีสัดส่วนฝุ่นของหินหรือสารประกอบคาร์บอน มากกว่าทำให้สะท้อนแสงได้ไม่ดีเท่าวงแหวนดาวเสาร์

อีกทั้งระบบวงแหวนของดาวเสาร์ยังมีมวล 3 หมื่นล้านล้านตัน ซึ่งถือว่ามาก เมื่อเทียบกับมวลวงแหวนของดาวเคราะห์อื่น ๆ เปรียบเทียบง่าย ๆ วงแหวนของดาวเสาร์กว้างถึง 4 หมื่นล้านตารางกิโลเมตรเทียบเท่าพื้นผิวโลกถึง 80 เท่า ทว่าในส่วนของความหนาวงแหวนกลับมีเพียงแค่ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่สนใจ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร.​ เตรียมจัดสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์สำคัญ "ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 รวมถึงรับชมปรากฎการณ์ "ซูเปอร์บลูมูน" ในคืนวันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 ได้ตั้งแต่เวลา 18.00-22.00 น.

จุดสังเกตการณ์หลักทั้ง 4 แห่ง

1.อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ. เชียงใหม่ : โทร. 084-0882261

2.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา : โทร. 086-4291489

3.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา : โทร. 084-0882264

4.หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา : โทร. 095-1450411

สำหรับประชาชนทางบ้านสามารถรับชม LIVE ปรากฏการณ์ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

คืนนี้! \"ดาวเสาร์\" ราชาวงแหวนแห่งระบบสุริยะใกล้โลกมากที่สุด