ชวนชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ตลอดเดือน ส.ค. 66 ต้องห้ามพลาด!

12 ส.ค. 2566 | 02:00 น.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์หาชมได้ยากตลอดเดือนสิงหาคม 2566 นี้ ตรวจสอบไทม์ไลน์การเกิดปรากฎการณ์เหล่านี้ พร้อมช่องทางชมสดได้ที่นี่ คลิกเลย

ต้องห้ามพลาด ชม 4 ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าตลอดเดือนสิงหาคม 2566 โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARIT) มีกิจกรรมดี ๆ สำหรับผู้ที่ชื่นชอบดวงดาวตลอดเดือนสิงหาคมนี้ ถ้าไม่อยากพลาดจดบันทึกกันลืมกันไว้ได้เลย ในเดือนสำคัญนี้จะมีปรากฏการณ์ดาราศาสตร์อะไรให้ได้ชมกัน มีรายละเอียด ดังนี้ 

1. ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (ฝนดาวตกวันแม่): 

คืนวันที่ 12 - รุ่งเช้า 13 สิงหาคม 2566 สำหรับปีนี้คาดว่า จะมีอัตราการตกเฉลี่ยประมาณ 60 - 100 ดวง/ชั่วโมง โดยเวลาประมาณ 23.00 - 03.00 น. ของคืนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นเวลาที่เหมาะสมต่อการสังเกตการณ์เนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน

แนะนำให้ชมในที่ห่างจากเมืองหรือบริเวณที่มืดสนิทซึ่งวิธีการสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ การนอนชมด้วยตาเปล่าตามทิศทางการกระจายตัวของฝนดาวตก หากฟ้าใสไร้ฝน สามารถชมความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ได้ทั่วประเทศ

2. ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2:

เกิดขึ้นในวันพุธที่ 16 สิงหาคม 2566 เวลา 12.22 น. ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดจะเกิดปรากฎการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากแตกต่างกัน โดยสามารถดูข้อมูลการเกิดปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากทั้ง 77 จังหวัดในประเทศไทยได้ทั้งหมด (คลิกที่นี่


3.ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี:

ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 ห่างจากโลกประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าวเมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเริ่มสังเกตดาวเสาร์ได้ทางทิศตะวันออก ชมได้ทุกภูมิภาคทั่วไทย

4.ซูเปอร์บลูมูน (Super Blue Moon):

ในคืนวันที่ 30 - รุ่งเช้า 31 สิงหาคม 2566 ชม 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ คือ

- ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ปีนี้ มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร

- บลูมูน (Blue Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน ปกติแล้วในหนึ่งเดือนจะเกิดดวงจันทร์เต็มดวงเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้นสองครั้ง

ทั้งนี้ NARIT เตรียมจัดที่สังเกตการณ์ "ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี" ในคืนวันที่ 27 สิงหาคม 2566 และ "ซูเปอร์บลูมูน" ในคืนวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลา 18.00 - 22.00 น. ณ จุดสังเกตการณ์หลัก ดังนี้ 

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา จ.สงขลา และ จ.ฉะเชิงเทรา

นอกจากนี้ผู้ที่สนใจยังสามารถรับชมผ่าน LIVE เพื่อรับชมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

 

ชวนชม 4 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ตลอดเดือน ส.ค. 66 ต้องห้ามพลาด!