17 ส.ค. “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” เปิดที่มาความสำคัญการก่อตั้ง

17 ส.ค. 2566 | 02:27 น.

17 ส.ค. “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” เปิดที่มาความสำคัญการก่อตั้ง หวังให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพะยูนที่มีต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

17 ส.ค. เป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” เพื่อเป็นการรำลึกถึง “มาเรียม” ลูกพะยูนพลัดหลงและเกยตื้นชื่อ ขวัญใจชาวไทยที่ได้เสียชีวิตลงในปี 2562

โดยมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อจากขยะพลาสติกที่อุดตันในทางเดินอาหาร 

และต่อมาพะยูน "ยามีล" ก็เสียชีวิต ซึ่งลูกพะยูนทั้งสองตัวถูกพบในพื้นที่จังหวัดกระบี่ จากการพลัดพรากจากแม่ที่คอยดูแลให้นม และอาการเจ็บป่วยเนื่องจากมีขยะอยู่ในร่างกาย

ซึ่งเรื่องราวของ “มาเรียม” ในขณะนั้นมีผลทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจประเด็นการอนุรักษ์พะยูน และตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลมากขึ้น

เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของพะยูนที่มีต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล และร่วมกันดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ

รู้จัก “มาเรียม-ยามีล” 

ย้อนเวลากลับไปวันที่ 26 เมษายน 2562 ลูกพะยูนเพศเมีย หรือที่รู้จักกันในชื่อ “มาเรียม” ได้เกยตื้นบริเวณแหล่งหญ้าทะเลจังหวัดกระบี่ และได้รับการดูแลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

หลังจากนั้นอีกไม่กี่เดือนลูกพะยูนเพศผู้ ถูกพบเกยตื้นอีกตัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อให้ว่า “ยามีล” 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่าลูกพะยูนทั้ง 2 ตัว เสียชีวิตในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน จากการกลืนกินเศษขยะพลาสติกในทะเล

สำหรับการจากไปของมาเรียมและยามีลไม่ใช่เรื่องที่สูญเปล่า เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูน รวมทั้งประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลมากขึ้น 

พะยูนไม่ใช่ปลา

พะยูน ดูเหมือนปลา แต่ไม่ใช่ พะยูนเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในน้ำ มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 70 ปี มีความยาวประมาณ 2.5 – 3 เมตร และมีน้ำหนักราว 230 – 500 กิโลกรัม กินพืชในน้ำเป็นอาหาร โดยเฉพาะหญ้าทะเลบริเวณชายฝั่ง เราสามารถพบเจอพะยูนได้ในทะเลชายฝั่งเขตอบอุ่น ตั้งแต่ชายฝั่งทวีปแอฟริกาตะวันออกไปจนถึงทวีปออสเตรเลีย ซึ่งนั่นรวมถึงทะเลแดง มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก

พะยูน ได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ. ศ. 2562 อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES) พะยูนได้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ลำดับที่ 86 ของบัญชีไซเตส ซึ่งเป็นสัตว์ที่ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้น เพื่อการศึกษาวิจัย และเพาะพันธุ์เท่านั้น

ประเทศไทยแหล่งที่พบพะยูนมากที่สุด คือ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จ.ตรัง ซึ่งถือได้ว่าเป็นบ้านหลังใหญ่ของพะยูนในประเทศไทย