วสท. เปิดสาเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดขาผู้โดยสาร

30 มิ.ย. 2566 | 09:30 น.

วสท.สแกนพื้นที่ตรวจสอบ หลังทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดขาผู้โดยสารขาด พร้อมเปิดสาเหตุ-หลักการทำงานบันไดเลื่อน เตรียมหามาตรการป้องกัน หวั่นซ้ำรอยเดิม

 

 

กรณีอุบัติเหตุเกี่ยวกับทางเลื่อนอัตโนมัติที่สนามบินดอนเมือง ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและมีข้อสงสัยจากประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ในเรื่องมาตรฐาน,ความปลอดภัยในการใช้งานทางเลื่อนอัตโนมัติ และบันไดเลื่อนในปัจจุบัน ว่า

วันนี้ (30 มิ.ย.2566)  นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ที่ปรึกษาคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) เปิดเผยว่า  เบื้องต้นวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และสภาวิศวกร ส่งผู้แทนเข้าไปสำรวจตรวจสอบในเบื้องต้น เพื่อให้ได้ทราบถึงสภาพปัญหา เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และการใช้งานที่ปลอดภัยต่อไป 

สำหรับหลักการทำงานและความแตกต่างของทางเลื่อนอัตโนมัติและบันไดเลื่อน ซึ่งการทำงานและอุปกรณ์ของทั้งสองอุปกรณ์นี้คล้ายกัน มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจน 2 เรื่อง คือ 

1.มุมที่วัดจากแนวระนาบสำหรับทางเลื่อนอัตโนมัติจะไม่เกิน 11 องศา เพื่อให้แผ่นพื้นเรียบ หากมุมจากแนวระนาบเกินกว่านี้ จะต้องทำแผ่นพื้นให้เป็นขั้นบันไดเลื่อน และข้อแตกต่างของการรับน้ำหนัก ซึ่งทางเลื่อนอัตโนมัติ 1 แผ่นพื้น สามารถรับน้ำหนักได้ 160 กิโลกรัม 

วสท. เปิดสาเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดขาผู้โดยสาร

2.บันไดเลื่อนจะออกแบบให้รับน้ำหนักที่ 75 กิโลกรัมต่อคน น้ำหนักที่ใช้ในการออกแบบดังกล่าวมีความสำคัญในการออกแบบอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของทั้งระบบบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ 
 

ส่วนอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยที่ตามมาตรฐานสากล EN115 เบื้องต้นจากการสำรวจในสถานที่เกิดเหตุ หลังเกิดอุบัติเหตุพบว่า มีการแตกหักของแผ่นหวี และมีบางชิ้นส่วนของหวี แตกหักลักษณะคล้ายเป็นรูปโค้งของวงกลม ซึ่งอาจจะเกิดจากการขัดกันระหว่างวัสดุสองชนิดในช่วงที่เกิดเหตุนั้น พบว่าแผ่นพื้นทางเลื่อนที่หลุดยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ และหล่นอยู่ท้องของกล่องทางเลื่อนอัตโนมัติเป็นระยะประมาณ 10 เมตรจากจุดเกิดเหตุ ลักษณะแผ่นพื้นหลุดดังกล่าว บ่งชี้ว่าน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด 

 

นายบุญพงษ์  กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของการบำรุงรักษา ซึ่งผู้ทำการตรวจความปลอดภัย (QA) ของระบบบันไดเลื่อนทั้งหมด รวมถึงทางเลื่อนอัตโนมัติได้รับรองความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ไว้แล้ว นอกจากนี้ในการใช้งาน เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาจะต้องตรวจสอบการทำงานของระบบก่อนการเปิดใช้งานทุกวัน จึงไม่เป็นเหตุให้ระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติมีการทำงานที่ผิดปกติ 

วสท. เปิดสาเหตุทางเลื่อนสนามบินดอนเมือง ดูดขาผู้โดยสาร

“การเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว จึงสันนิษฐานเป็นลำดับได้ว่าอาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ล้อกระเป๋าเดินทางไปติดอยู่ที่ปลายหวีนั้นด้วย เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ จึงเกิดการขัดตัวจนกระทั่งปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อน เกิดการกระดกจนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าว หล่นลงไปในช่องว่าง ในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังที่ปรากฏตามข่าว”

 

ทั้งนี้ทางวสท.มีความจำเป็นจะต้องทำหาข้อเท็จจริงโดยละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีกและหามาตรการป้องกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้งานต่อไป