“แอม ไซยาไนด์” แท้งลูกในเรือนจำ ราชทัณฑ์เผยอาการล่าสุดปลอดภัยแล้ว

23 มิ.ย. 2566 | 13:19 น.

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยัน “แอม” ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมเหยื่อหลายรายด้วยการวางยาจนได้สมญา“แอม ไซยาไนด์” มีภาวะครรภ์เป็นพิษทำให้แท้งบุตร ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ล่าสุดปลอดภัย ส่งตัวกลับรพ.ราชทัณฑ์แล้ว

 

นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยวันนี้ (23 มิ.ย.) กรณี นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือที่รู้จักกันในนาม “แอม ไซยาไนด์” ผู้ต้องหา คดีวางยามาตรกรรมเหยื่อ หลายราย ถูกเจ้าหน้าที่​ทัณฑสถาน​หญิงกลาง​ นำตัวส่งโรงพยาบาล​ตำรวจ เพื่อรักษาตัวจากการแท้ง​ลูกในครรภ์​ว่า ได้รับรายงานจากผู้อำนวยทัณฑสถาน​หญิงกลางเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาว่าแอมแท้งลูกจริง

ทั้งนี้ แอม​ซึ่งเป็นผู้ต้องขังมีอายุครรภ์ประมาณ 5-6 เดือน ได้ไปตรวจครรภ์แล้วพบว่าชีพจรของเด็กในครรภ์ไม่เต้น เจ้าหน้าที่จึงรีบส่งตัวไปยังโรงพยาบาลตำรวจ และตอนนี้ได้ส่งตัวมายังโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว โดยแอมปลอดภัยดี มีอาสาสมัครราชทัณฑ์ คอยดูแล

ด้านน.ส.โศรยา ฤทธิอร่าม ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง เผยว่า แอมมีภาวะครรภ์เป็นพิษ โดยเจ้าตัวแจ้งกับเจ้าหน้าที่ผู้คุมว่าบุตรในครรภ์ชีพจรไม่เต้น ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ และเชิญแพทย์สูตินารีของราชทัณฑ์เข้าตรวจเช็กด้วย ปรากฏว่าบุตรในครรภ์หัวใจไม่เต้น จึงนำตัวส่งโรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งแพทย์ยืนยัน ลูกในท้องไม่มีชีพจร จึงให้การรักษาและพักฟื้น ก่อนส่งตัวกลับมารักษาที่ต่อทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ 2 คืนแล้ว ขณะนี้อาการปลอดภัย

หลักการดูแลและพยาบาลผู้ที่ตั้งครรภ์ในเรือนจำปกติแล้ว ทางราชทัณฑ์จะมีการตรวจชีพจรของบุตร ที่ผ่านมาแอมไม่มีลักษณะภายนอกบ่งบอกว่าจะมีการแท้งลูก กระทั่งวันเกิดเหตุที่เจ้าตัวได้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ว่ารู้สึกผิดปกติ แต่เบื้องต้นเป็นการแท้งที่ไม่ได้เกิดจากการเดินมากหรือกินอะไรที่ผิดสำแดง

แอม หรือนางสรารัตน์ บอกกับเจ้าหน้าที่ว่า เคยตั้งครรภ์และมีการแท้งมาก่อน จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่แท้งลูกด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษ ทั้งนี้ อาการของเธอไม่ได้มีอาการเศร้า เสียใจ หรือเครียดผิดปกติแต่อย่างใด ยังคงอยู่ระหว่างการพักรักษาตัว ขณะที่ทนายความของแอม ยังไม่มีรายงานว่าขอประสานเข้าเยี่ยมลูกความในเรือนจำ

สำหรับนางสรารัตน์ ถูกจับดำเนินคดีเมื่อช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ในข้อหาฆ่าผู้อื่นด้วยการวางยาไซยาไนด์ ซึ่งเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเนื่องจากมีผู้ที่คาดว่าจะเสียชีวิตเกี่ยวข้องในคดีนี้ถึง 15 คน และมีการแจ้งข้อกล่าวหามากกว่า 80 ข้อหา

เป็นอันหมดข้อสงสัย เรื่องการรับโทษ

ก่อนหน้านี้ เคยมีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมายว่า นางสรารัตน์ต้องโทษคดีร้ายแรงมีผู้เสียชีวิตหลายคน หากต้องโทษประหารชีวิต เธอก็จะไม่ถูกประหารเพราะมีครรภ์อยู่และจะได้รับการลดโทษเป็นการจำคุกตลอดชีวิตแทนเนื่องจากตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 247 วรรคสอง ระบุว่า ถ้าจำเลยคนใดต้องโทษประหารชีวิต ถ้าตั้งครรภ์อยู่ให้รอไว้จนกว่าจะพ้นกำหนด 3 ปี นับตั้งแต่วันคลอดบุตรและให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต

เรื่องนี้ ทางกรมราชทัณฑ์เคยออกมาชี้แจงว่า กรณีผู้ต้องขังตั้งครรภ์ระหว่างการรับโทษ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายหญิงใดต้องโทษประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่ ให้รอไว้จนพ้นกำหนด 3 ปีนับแต่คลอดบุตร โดยผู้ต้องขังหญิงจะได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ที่เหมาะสม สามารถฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลในท้องที่ที่สถานกักขังตั้งอยู่ และพิจารณาอนุญาตให้ออกไปคลอดตามความจำเป็น และเมื่อคลอดแล้วให้พักรักษาตัวไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันคลอด แต่ถ้าจำเป็นต้องพักรักษา ตัวนานกว่านี้ ให้เสนอความเห็นแพทย์ทำคลอด เพื่อขออนุญาตเรือนจำ

นอกจากนี้ เรือนจำจัดให้ผู้ต้องขังหญิงที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ได้รับคำแนะนำด้านสุขภาพและโภชนาการ จัดอาหารให้เพียงพอให้เหมาะสมกับผู้ต้องขังที่ตั้งครรภ์ ทารก เด็ก และแม่ที่ให้นมบุตร ต้องไม่ขัดขวางการให้นมและการดูแลบุตร เว้นแต่มีปัญหาด้านสุขภาพ

ในช่วง 3 ปี(หลังคลอดบุตร) ถ้ามีผู้อุปการะเช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง ก็สามารถนำบุตรไปดูแลต่อ แต่ถ้าไม่มีก็จะส่งให้ศูนย์เด็กเล็กดูแล เพราะไม่อยากให้เด็กจำความได้ในเรือนจำ

ขณะที่นายมนต์ชัย จงไกรรัตนกุล หรือ ทนายแก้ว เจ้าของฉายาทนายโซเชียล ไขข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า การนำมาตรา 247 มาบังคับใช้นั้นจะเริ่มเมื่อ “คดีถึงที่สุด” โดยศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ซึ่งหากมีการอุทธรณ์ ฎีกาจะต้องพิจารณาถึง 3 ศาล หรือแม้ว่าแอมจะยอมรับสารภาพในศาลชั้นต้น แล้วศาลชั้นต้นตัดสินประหารชีวิต ความคุ้มครองกรณีตั้งครรภ์ก็ยังไม่เกิด เนื่องจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 245 ระบุว่า “ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต จะต้องมีการส่งเรื่องไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา แม้ว่าจะไม่มีผู้ใดอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ตาม” ทั้งนี้ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์ได้กลั่นกรองก่อน ดังนั้น อย่างเร็วที่สุดคดีของ “แอม ไซยาไนด์” จะต้องไปสิ้นสุดในชั้นศาลอุทธรณ์ ซึ่งกว่าคดีจะถึงที่สุดต้องใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี ซึ่ง ณ ตอนนั้นแอมน่าจะคลอดแล้ว

"ขั้นตอนจากศาลชั้นต้นไปถึงศาลอุทธรณ์ จนคดีถึงที่สุดต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างน้อย 6 เดือน ถึง 1 ปี ปัจจุบันแอมท้องได้ 4 เดือน กว่าจะผ่าน 2 ศาล จนคดีจะถึงที่สุด แอมคงคลอดแล้ว ดังนั้น คดีของแอมอาจไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 247 ที่ละเว้นโทษประหารให้หญิงตั้งครรภ์ นอกจากนั้น แอมยังมีคดีที่โทษถึงประหารถึง 11 คดี ซึ่งไม่รู้ว่าคดีไหนจะเริ่มพิจารณาเมื่อไหร่ และแต่ละคดีจะพิจารณาถึงที่สุดเดือนไหน" ทนายแก้ว ระบุ

อย่างไรก็ตาม มาถึงวันนี้ แอมครรภ์เป็นพิษแท้งบุตรในครรภ์ไปแล้ว ข้อสงสัยที่เป็นประเด็นถกเถียงกันข้างต้น ก็คงเป็นอันตกไป ไม่มีข้อสงสัยอีกแล้วว่า ถ้าสุดท้ายเธอได้รับโทษประหารจริง ก็คงไม่มีเหตุให้ไม่ต้องรับโทษดังกล่าว