"ส่วยสติ๊กเกอร์" คืออะไร ย้อนดูปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ที่ไม่เคยหายไป

28 พ.ค. 2566 | 13:10 น.

"ส่วยสติ๊กเกอร์" คืออะไร ย้อนดูปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" ที่ไม่เคยหายไป หลังวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เปิดประเด็น "ส่วยสติ๊กเกอร์" หรือ "สติกเกอร์ Easy Pass"

ในขณะที่บรรยากาศทางการเมืองกำลังฝุ่นตลบกับการชิงเก้าอี้ประธานสภา และจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เปิดประเด็น "ส่วยสติ๊กเกอร์" หรือ "สติกเกอร์ Easy Pass" พร้อมติดแฮชแท็ก #ทำงานต่อไม่รอแล้วนะ 

เฟซบุ๊ค Wiroj Lakkhanaadisorn - วิโรจน์ ลักขณาอดิศร โพสต์รูปสติ๊กเกอร์หลายรูปแบบ ที่ติดอยู่หน้ารถบรรทุกพร้อมระบุว่า มีคนให้ข้อมูลว่า Easy Pass พิสดาร นี่มีหลายรูปแบบมาก มีคนร่ำลือกันว่า ต่อให้บรรทุกเป็น 100 ตัน ก็ขับผ่านฉลุย แถมไม่ต้องเสียเวลาชั่ง

กลไกคือ มีองค์กรลึกลับไปไล่เคลียร์ แล้วเหมาจ่ายไปก่อน จากนั้นก็จะผลิตสติ๊กเกอร์ Easy Pass พิสดาร (ที่ไม่เกี่ยวกับการทางพิเศษ) ออกมา แล้วนำมาจำหน่ายให้กับรถบรรทุกต่างๆ ในราคาหลักพันบาทต่อเดือน ตามระยะทาง และจำนวนด่าน อย่างเช่น สติ๊กเกอร์ Easy Pass รุ่นกระต่ายน้อยคอยรัก ดวงละ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน

ส่วยสติ๊กเกอร์ ส่วยรถบรรทุก

"ส่วยรถบรรทุก" หรือ "ส่วยสติ๊กเกอร์" แท้ที่จริงถือเป็นปัญหาที่ถูกกล่าวถึงในสังคมไทยมาก่อนหน้านี้แล้วหลายต่อหลายครั้ง ฐานเศรษฐกิจ ย้อนดูเกี่ยวกับส่วยรถบรรทุก ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

งานเสวนา "อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2565 นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัญหา "ส่วยรถบรรทุก" เป็นปัญหาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในสังคมไทยมากกว่า 30-40 ปี การแข่งขันทางธุรกิจอย่างรุนแรง ทำให้บรรทุกน้ำหนักเกินมีจำนวนมากขึ้น จึงทำให้มีการเรียกเก็บ "ส่วยรถบรรทุก"

นายอภิชาติเล่าว่า ในอดีตมีการจ่ายแบบราคาเหมา เช่น ผู้ประกอบการ 1 รายมีรถบรรทุก 20 คัน จะจ่าย 5,000-6,000 บาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันรูปแบบการจ่าย ส่วยรถบรรทุก ผู้ประกอบการ รถบรรทุก จะจ่ายเป็นคันราคาประมาณ 10,000-27,000 คันต่อเดือน ขึ้นอยู่ปริมาณการบรรทุกน้ำหนักของรถบรรทุก

แต่ละปีพบว่า มีรถบรรทุกจ่ายส่วยประมาณ 120,000 คัน หรือคิดเป็นมูลค่าราคา 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล ขณะที่ปัจจุบันรถบรรทุกที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) มีประมาณ 1,400,000-1,500,000 คัน ในส่วนนี้เป็นสมาชิกสหพันธ์ขนส่งฯ ประมาณ 400,000 คัน 

นายอภิชาติ กล่าวสหพันธ์ขนส่งฯ ได้เสนอทางออก 3 ข้อ คือ 1.เอาผิดผู้ว่าจ้างในการขนส่งสินค้า เช่น โรงโม่ ที่มีการให้เกิดบรรทุกน้ำหนักเกิน 2.ให้ ทล. ติดตั้งเครื่องประเมินน้ำหนักรถบรรทุกบนโครงข่ายทางหลวงในระยะทางกว่า 50,000 กม. ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อช่วยเข้มงวดขวดขันเรื่องกังกล่าว และ 3.ไม่ควรตั้งด่านตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินซ้ำซ้อน เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรับผลประโยชน์จากรถบรรทุก โดยเฉพาะเส้นทางหลัก

งานเสวนา "อิทธิพลส่วยรถบรรทุกกับการคอรัปชั่น"

ย้อนหลังไป 12ปีที่แล้ว วันที่ 7 กันยายน 2554 กลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นำโดย นายยู เจียรยืนยงพงศ์ ประธานสหพันธ์ฯ ร่วมกับ 10 สมาคม 4 ชมรม ประมาณ 150 คน มารวมตัวกันถือป้ายข้อความประท้วงขับไล่ พล.ต.ต.นรบุญ แน่นหนา ผบก.ทล.เรื่องการเรียกเก็บส่วยกับรถบรรทุก 

ในครั้งนั้น ประธานสหพันธ์ฯระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิก มีการขายสติกเกอร์ให้กับรถบรรทุกในราคาใบละ 3,500 บาท ต่อคันต่อเดือน ทำให้สามารถวิ่งบรรทุกน้ำหนักเกินได้อย่างสบาย ส่งผลกระทบทั้งผู้ใช้รถใช้ถนน และผู้ประกอบการรถบรรทุก

ส่วยรถบรรทุก

และการที่เจ้าหน้าที่ไม่เรียกตรวจรถบรรทุกที่มีสติกเกอร์นั้น อาจจะมีการแอบแฝงยาเสพติดมากับรถบรรทุกก็ได้ แถมถนนยังพังเสียหาย เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงทำลายชีวิตและทรัพย์สิน ขณะนั้น
ทางสหพันธ์ได้นำหนังสือร้องเรียนไปยื่นกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เพื่อแก้ไขเรื่องส่วยสติ๊กเกอร์ด้วย

จึงจะเห็นได้ว่า "ส่วยสติ๊กเกอร์" หรือ "ส่วยรถบรรทุก" ไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่เคยหายไป ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการจ่ายตามรายทาง เป็นการซื้อสติ๊กเกอร์ต่อคัน ต่อเดือน และเปลี่ยนเป็นรูปแบบล่าสุด คือการเหมาจ่าย ตามที่นายวิโรจน์ ได้ออกมาเปิดเผย