การเดินทางของ “ผ้าขาวม้า” สู่การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม

21 พ.ค. 2566 | 12:30 น.

การเดินทางของ “ผ้าขาวม้า” ผ่านกาลเวลาวัฒนธรรมหลายยุคสมัย กลายเป็น SoftPower ของไทย มุ่งสู่การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมในอนาคต

ถ้าพูดถึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างหนึ่ง "ผ้าขาวม้า" ก็คือความภาคภูมิใจที่อยู่คู่ประเทศไทยมานานหลายยุคสมัย แต่ละท้องถิ่นในประเทศต้องมีไว้ใช้ จนกลายเป็นผ้าสามัญประจำบ้าน แต่รู้ไหมว่า ผ้าขาวม้า ได้ผ่านกาลเวลาวัฒนธรรมหลายยุคสมัย ผ่านความคิด จิตวิญญาณ กลายเป็นเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทย เป็น SoftPower ของไทย ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Intangible cultural heritage) ต่อองค์การยูเนสโก (UNESCO) 

ที่จริงแล้ว “ผ้าขาวม้า” ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับ “ผ้าขาว” และ “ม้า” เลย ผ้าขาวม้า ไม่ใช่ภาษาไทย แต่มาจากเปอร์เซียคำว่า “กามาร์บันด์” (Kamar Band) ซึ่งหมายถึง เอว หรือ ท่อนล่างของร่างกาย “บันด์” หมายถึง การพัน รัด หรือ คาด

เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจึงหมายถึง เข็มขัด ผ้าพัน หรือ คาดสะเอว มีงานวิจัยเสนอว่า ผ้าขาวม้าเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า “กามา” (Kamar) ซึ่งเป็นภาษาอิหร่านที่ใช้กันอยู่ในประเทศสเปน เพราะประวัติศาสตร์ ทั้ง 2 ประเทศติดต่อกันมาช้านาน ต่อมาประเทศไทยได้รับอิทธิพลทางภาษามาด้วย

 

คนไทยรู้จักใช้ผ้าขาวม้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่

มีข้อมูลว่าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ราวยุคสมัยเชียงแสน ได้รับอิทธิพลจากชาวไทยใหญ่ที่ใช้ผ้าขาวม้า โพกศีรษะ ต่อมาผู้ชายไทยใช้ผ้าเคียนเอว (ผูกเอว) และยังประยุกต์ใช้ประโยชน์หลากหลาย เช่น ใช้ห่อเก็บสัมภาระเดินทาง ห่ออาวุธ นุ่งเวลาอาบน้ำ เช็ดตัว ปูนอน

ยุคแรกคนไทยจะเรียกผ้าสารพัดประโยชน์ผืนนี้ว่า "ผ้าเคียนเอว" ก่อนจะเปลี่ยนเป็นผ้าขาวม้า ในภายหลัง

เอกลักษณ์ของผ้าขาวม้า 

แต่ละภาคจะมีลายทอ สีสันเส้นใยแตกต่างกัน ส่วนใหญ่จะทอจากฝ้าย ไหม ด้ายดิบ หรือป่าน ในบางพื้นที่ ขนาดความกว้างประมาณ 3 คืบ ยาวประมาณ 5 คืบ

คุณสมบัติที่สำคัญของผ้าขาวม้า

เป็นผ้าทอลายทางตรงและขวางตัดกันมีขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าพอเหมาะ ใช้งานได้หลากหลายสารพัดนึกยิ่งใช้นานยิ่งนุ่ม ซับน้ำได้ดี แห้งเร็ว ทนทานนานนับปี บางประเภทเป็นผ้าทอจากเส้นไหมราคาสูง มักใช้เป็นผ้าพาดไหล่ จนกระทั่งมีการนำผ้าขาวม้ามาเป็นชุดไทยพระราชทานชุดคาดเอว 

จากนี้จะพาผู้อ่านท่องไปกับสีสัน เนื้อผ้า และเปรียบเทียบลวดลาย เอกลักษณ์ประจำแต่ละท้องถิ่น เป็นของดีประจำจังหวัด

ผ้าขาวม้ากาญจนบุรี 

ลวดลายสะดุดตา ด้วยการเลือกใช้ไหมประดิษฐ์สีสด สารพัดสี อนุรักษ์ลวดลายแบบโบราณ เช่น ลายตาจัก ซึ่งมีเฉพาะที่บ้านหนองขาว มีการทอเก็บยกลายตลอดทั้งผืน และทอได้เฉพาะผู้ที่มีความชำนาญเท่านั้น จึงเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในนาม "ผ้าขาวม้าร้อยสี"  ยังมีลายอื่นๆ ได้แก่ ลายหมากรุก ลายตาคู่ ลายตาเล็ก

การเดินทางของ “ผ้าขาวม้า” สู่การขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรม

ผ้าขาวม้าพระนครศรีอยุธยา

ลวดลายคละสลับกันเป็นตารางหมากรุกประมาณครึ่งนิ้ว และมีสองสีสลับด้าน ด้านตามยาวของปลายทั้งสองข้าง ทำเป็นลายริ้วสลับสีกัน เช่น ขาวแดง แดงดำ ขาวน้ำเงิน

ผ้าขาวม้าชัยนาท

ผ้าทอด้วยไหมประดิษฐ์ โทเร และฝ้าย ทอเป็นลายสก๊อต ลายทางหรือลายสี่เหลี่ยม 

ผ้าขาวม้าลพบุรี 

เป็นแหล่งทอผ้าพื้นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นผ้าที่มีลวดลาย สีสันสวยงามและเป็นผ้าทอมือที่มีความประณีตมาก

ผ้าขาวม้าราชบุรี

ส่วนใหญ่จะทอ 2 ลวดลาย คือ ลายหมากรุกและลายตาปลา เป็นผ้าขาวม้าที่สวยงาม ราคาถูก สีไม่ตก รู้จักกันในชื่อ "ผ้าทอบ้านไร่" และในปัจจุบันมีการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัยโดยคนรุ่นใหม่ ในชื่อ "Pakamian" ที่ภาคอีสาน 

ผ้าขาวม้าศรีสะเกษ

ได้รับอิทธิพลมาจากลาว ทอด้วยไหมและฝ้าย ทำในโอกาสพิเศษหรืองานพิธีสำคัญเท่านั้น จะทอเป็นลายเส้นขัดตารางหมากรุก

ผ้าขาวม้าสุรินทร์

ลายผ้าขาวม้าของจังหวัดสุรินทร์เป็นผ้าลายตารางสีแดงดำ เขียวเข้ม และชาวสุรินทร์จะมีผ้าขาวม้าประจำตระกูล ผู้อาวุโสมักจะมอบผ้าขาวม้าไว้เป็นมรดกแก่ลูกหลาน

ผ้าขาวม้ามหาสารคาม

เอกลักษณ์โดดเด่น คือทอมือสีธรรมชาติ พัฒนาลวดลายให้ทันสมัย 

ผ้าขาวม้าขอนแก่น

มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นลายเฉพาะของผ้าขาวม้าจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นลาย "หมี่กง" ต้นแบบและเป็นลายเก่าแก่ของผ้าเมืองขอนแก่น เน้นที่สีม่วง แดง เขียว และทอลักษณะแบบ 3 ตะกอ ทำให้ผ้าหนาเนื้อแน่น

ผ้าขาวม้าแพร่

ทอลักษณะแบบ "จก" ที่บริเวณของผ้าขาวม้าด้วย เรียกว่า "ผ้าขาวม้ามีเชิง" ส่วนใหญ่เป็นลายหมากรุกหรือลวดลายเรขาคณิตทั่วไป ส่วนลายที่จกจะเป็นลายสัตว์ตามคตินิยมความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละกลุ่มชน 

ผ้าขาวม้าน่าน

การทอผ้าของชาวน่านมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จะเรียกกันว่า "ผ้าตะโก้ง" ส่วนมากมักนิยมทอด้วยฝ้าย เส้นฝ้ายนั้นทำเอง ปัจจุบันนิยมทอผ้าขาวม้าให้มีสีคลาสสิกมากยิ่งขึ้น เน้นสีเขียว ฟ้า น้ำตาล เป็นสีที่กลมกลืนกับธรรมชาติบริเวณชายผ้ามักจะจกลายช้าง ลายม้า ลายเจดีย์ ลายยกดอก ลวดลายที่ทอเน้นเกี่ยวกับความเชื่อ ความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ใช้

ข้อมูล : บทความวิชาการ วัฒนธรรมสร้างสรรค์มนต์เสน่ห์แห่งผืนผ้าลายตาราง นามว่า “ผ้าขาวม้าสารพัดนึก”