เช็ค 4 ข้อระวัง มิจฉาชีพสวมรอย ตรวจสอบความเป็นเจ้าของทะเบียนรถ

12 พ.ค. 2566 | 08:26 น.

“กรมการขนส่งทางบก” เตือนประชาชน ระวังมิจฉาชีพสวมรอย ตรวจสอบความเป็นเจ้าของทะเบียนรถ เสี่ยงถูกล้วงข้อมูลส่วนบุคคล หวั่นเกิดความเสียหาย เตรียมเอาผิดฐานฉ้อโกงประชาชน มีโทษหนักจำคุกยาว 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท

นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก และโฆษกกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการขนส่งทางบกหรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานขนส่งจังหวัด โทรสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการกระทำของมิจฉาชีพ อย่าหลงเชื่ออย่าบอกข้อมูลส่วนบุคคล อย่าโหลดแอปพลิเคชัน อย่าคลิกลิงค์ที่ผู้แอบอ้างส่งมาให้เด็ดขาด เพราะเสี่ยงถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสียทรัพย์สิน  

สำหรับการแอบอ้างของมิจฉาชีพที่นำข้อมูลส่วนบุคคลไปทำให้เกิดความเสียหายและสูญเสีย ทรัพย์สิน  ดังนี้

 1.การแจ้งชื่อ นามสกุล ทะเบียนรถ 

2.การแจ้งให้โหลดแอปพลิเคชันเพื่อตรวจสอบข้อมูลทะเบียนรถของตัวเอง 

3.การให้เข้าลิงก์ที่ทางผู้แอบอ้างส่งมาให้ เพื่อยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของกรมการขนส่งทางบก เช่น เจ้าของรถมีรถกี่คัน,เลขทะเบียน

4.การอ้างว่าหากไม่เข้าไปยืนยันข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ข้อมูลของเจ้าของรถถูกลบและไม่สามารถเรียกคืนได้ 

“กรมการขนส่งทางบกขอยืนยันว่า กรมฯ ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรตรวจสอบความเป็นเจ้าของทะเบียนรถและให้โหลดแอปพลิเคชันหรือให้เข้าลิงค์เพื่อเข้าไปยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลแต่อย่างใด หากท่านได้รับการติดต่อลักษณะดังกล่าว ให้สงสัยไว้ได้เลยว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน”

สำหรับผู้ที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเพื่อหลอกลวงประชาชน เข้าข่ายเป็นการฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท ถือเป็นการกระทำโดยทุจริต หรือ

โดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
 

เช็ค 4 ข้อระวัง มิจฉาชีพสวมรอย ตรวจสอบความเป็นเจ้าของทะเบียนรถ

นอกจากนี้กรมการขนส่งทางบกเตือนประชาชนให้ระวังเพจมิจฉาชีพแอบอ้างรับทำใบขับขี่ออนไลน์ โดยมีพฤติกรรมของกลุ่มมิจฉาชีพจะนำรูปตราสัญลักษณ์กรมการขนส่งทางบกมาใส่ในรูปโปรไฟล์ หรือนำรูปภาพของผู้ที่ได้รับใบขับขี่มาแอบอ้าง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยจะโฆษณาหลอกลวงว่าสามารถออกใบขับขี่โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานขนส่ง และเก็บค่าบริการสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด 

 

อย่างไรก็ตามการขอรับใบขับขี่ทุกชนิดมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ  ผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่สามารถดำเนินการ ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสาร การทดสอบสมรรถภาพร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน การทดสอบขับรถ ที่สำนักงานขนส่งหรือโรงเรียนสอนขับรถที่รับรองโดยกรมการขนส่งทางบก และการถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถต้องมาดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่งเท่านั้น สำหรับผู้ที่ต้องการขอรับใบขับขี่ใหม่สามารถจองคิวล่วงหน้าผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue ซึ่งสามารถเลือกสำนักงานขนส่ง วันและเวลาที่สะดวกได้ด้วยตนเอง