เปิดกฎหมาย "ร่วมกันฆ่า" หลัง "รองอ๊อฟ" อดีตสามีแอม จ่อโดนข้อหา

04 พ.ค. 2566 | 10:13 น.

เปิดกฎหมาย "ร่วมกันฆ่า" หลัง"อดีตสามี แอมไซยาไนด์" พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ รอง ผกก.อ๊อฟ จ่อโดนข้อกล่าวหาเพิ่ม จากเดิม 4 ข้อหา ยักยอกทรัพย์ ร่วมกันฉ้อโกง ปลอมและใช้เอกสารราชการ รับของโจร

จากกรณี เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงความคืบหน้าคดี แอมไซยาไนด์ หรือ นางสรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ (3 พ.ค.2566) ล่าสุด พ.ต.ท.วิฑูรย์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ รอง ผกก.อ๊อฟ อดีตสามี ของแอม อยู่ระหว่างขออนุมัติหมายจับ ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ ร่วมกันฉ้อโกง ร่วมกันปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม และรับของโจร โดยยังไม่ยืนยันว่าจะนำไปสู่ข้อหา "ร่วมกันฆ่า" หรือไม่ ซึ่งยังต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่อไป

แถลงข่าว แอม ไซยาไนด์

เปิดกฎหมาย "ร่วมกันฆ่า"

การกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่านั้น คือการถูกตั้งข้อกล่าวหาฐานที่เป็นตัวการ และผู้สนับสนุน (ตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 6) ในการกระทำความผิดต่อชีวิต  (ตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 1) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ความผิดฐาน เป็นตัวการ และผู้สนับสนุน (ตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 6) มีกฎหมายที่น่าสนใจสำหรับกรณี แอมไซยาไนด์ อยู่ 2 มาตรา คือ

มาตรา 83  ความผิดที่เกิดจากการกระทำของบุคคล2 คนขึ้นไป ถือว่าผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เช่น ร่วมกันฆ่า ร่วมกันลักทรัพย์ ร่วมกันทำร้ายร่างกาย ย่อมได้รับโทษเท่ากันตามฐานความผิดนั้นๆ

มาตรา 86 ความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิด โดยให้การช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวก ให้ผู้ที่กระทำความผิด ทั้งก่อนกระทำ และขณะกระทำความผิด แม้ผู้กระทำความผิดจะไม่ได้รู้ถึงการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกนั้นก็ตาม ผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ต้องระวางโทษ 2 ใน3 ของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดที่สนับสนุนนั้น

ความผิดฐานฆ่าคนตาย อยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 10 หมวด 1 ความผิดต่อชีวิต

มาตรา 288  ผู้ใดฆ่าผู้อื่น มีโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 15 - 20 ปี

มาตรา 289  ผู้ใด ฆ่าบุพการี , ฆ่าเจ้าพนักงาน หรือ ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ , ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ,ฆ่าผู้อื่นโดยทรมาน หรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย , ฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือ ฆ่าผู้อื่นเพื่อจะเอา ผลประโยชน์ที่เกิดจากการกระทำความผิดอื่น หรือ เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตนเอง หรือเพื่อให้ตนเองพ้นความผิดอาญาอื่นๆ มีโทษประหารชีวิต

มาตรา 290  ฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา หรือ มิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 15 ปี แต่หากการกระทำโดยไม่เจตนานั้น มีผลตามมาตรา 289 ผู้กระทำมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 - 20 ปี

มาตรา 291  ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท

มาตรา 292  ผู้ใดกระทำด้วยการปฏิบัติอันทารุณ หรือด้วยปัจจัยคล้ายคลึงกันแก่บุคคลซึ่งต้องพึ่งตนเอง ในการดำรงชีพหรือในการอื่นใด เพื่อให้บุคคลนั้นฆ่าตัวตาย ถ้าการฆ่าตัวตายนั้นได้เกิดขึ้น หรือได้มีการพยายามฆ่าตัวตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท 

มาตรา 293  ผู้ใดช่วยหรือยุยงเด็กอายุยังไม่เกิน 16 ปี หรือผู้ซึ่งไม่สามารถเข้าใจว่าการกระทำของตนมีสภาพหรือสารสำคัญอย่างไร หรือไม่สามารถบังคับการกระทำของตนได้ ให้ฆ่าตัวตาย ถ้าการฆ่าตัวตายนั้นได้เกิดขึ้น หรือได้มีการพยายามฆ่าตัวตาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 294  ผู้ใดเข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้ระหว่างบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป และบุคคลหนึ่งบุคคลใดไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เข้าร่วมในการนั้นหรือไม่ ถึงแก่ความตายโดยการกระทำในการชุลมุนต่อสู้นั้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ