The Glory ภาค 2 โศกนาฏกรรม การแก้แค้นจาก “บูลลี่” สู่บทสรุปสะท้อนสังคม

10 มี.ค. 2566 | 01:00 น.

The Glory ภาค 2 โศกนาฏกรรม การแก้แค้นจาก “บูลลี่” สู่บทสรุปสะท้อนสังคม การกลั่นแกล้งในรั้วโรงเรียน 10 มีนาคม 2566 รับชมได้ทาง Netflix

คอซีรี่ส์เกาหลีต่างรอคอย ว่าความแค้นจะถูกสะสางหรือไม่ การต่อสู้ระหว่าง “ดงอึน” และ “ยอนจิน” จะเป็นอย่างไร รวมทั้งผู้ทำความผิดทั้งหลายจะต้องเจอกับจุดจบแบบไหน เรากำลังพูดถึง “ซีรีส์ The Glory” ผลงานระดับมาสเตอร์พีชของ "คิมอึนซุก" ที่พอเปิดตัวปฐมบทแห่งการล้างแค้นก็ได้รับกระแสนิยมอย่างล้นหลามดังไกลถึงระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศไทยเป็นซีรีส์ที่ขึ้นอันดับ 1 ตั้งแต่สัปดาห์แรกที่เปิดตัว และเมื่อ Netflix เผยให้ชม Trailer ของ The Glory ภาค 2 เรียกได้ว่าทำเอาคอซีรี่ส์ตั้งตารอว่าจะดุเด็ดเผ็ดมันส์แค่ไหน กระทั่งวันนี้ 10 มีนาคม 2566 ได้เดือดไปพร้อมกันแน่นอน โดยรับชมได้ทาง Netflix

The Glory ภาค 2

The Glory ไม่ใช่ซีรีส์เรื่องแรกที่สะท้อนให้เห็นผลของการกลั่นแกล้งในโรงเรียน ก่อนหน้านั้นยังมีซีรี่ส์เรื่อง Taxi Driver, Itaewon Class , Extraordinary Attorney Woo , Who Are You: School 2015 ก็มีการนำเรื่องการกลั่นแกล้งทั้งในและนอกโรงเรียนมานำเสนอเช่นกัน

หากย้อนกลับไป The Glory ภาคแรก ได้ปลุกกระแสต่อต้านพฤติกรรมการ “บูลลี่” (Bully) ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย หลายคนอาจทราบกันดีอยู่เเล้วว่า การบูลลี่ เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคมเกาหลี มีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับปัญหาโดนกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะการกลั่นแกล้งในโรงเรียน แม้เเต่คนดังที่อดีตมีประสบการณ์ถูกการกลั่นแกล้งเหมือนกัน 

ซงฮเยคโย

จำนวนคดีรังแกกันในโรงเรียนในเกาหลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013  มีรายงาน 11,749 คดี และข้อมูลจากปี 2019 แสดงให้เห็นว่ามีคดีเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวโดยมีรายงาน 31,130 คดี

กระทรวงการศึกษาของเขตกวางจู ผลการสำรวจนักเรียนจำนวน 118,260 คน นักเรียนจำนวนมากถึง 1,895 คนที่ตอบว่าเคยถูกกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นการใช้คำพูดที่รุนแรง 34.1% ถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวจนแยกตัวออกจากสังคม 23.7% ทำร้ายร่างกาย 9.6% ใช้อินเตอร์เน็ตกลั่นแกล้ง (Cyberbullying) 8.8% เเละส่วนใหญ่ คือเพื่อนร่วมชั้น 

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต ระบุว่า ประเทศไทยติดอันดับการบูลลี่เป็น 2 ในโลกในปี 2563 รองจากประเทศญี่ปุ่น ด้วยการใช้ตัวอักษรผ่านโซเชียลมีเดีย หรือ Cyberbully โดยคำที่คนไทยใช้บูลลี่กันมากที่สุดเป็นเรื่อง รูปลักษณ์ เพศ และความคิดกับทัศนคติ

การบูลลี่มี 3 ประเภท

  • กลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) การกระทำที่สื่อความหมายกลั่นแกล้ง เช่น ล้อเล่น เรียกชื่อ แสดงความคิดเห็นทางเพศที่ไม่เหมาะสม เหน็บแนม และขู่ว่าจะทำอันตราย
  • กลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) ทำให้เสียหน้า หรือแกล้งให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้อื่น อย่างตั้งใจ เช่น ขับเพื่อนออกจากกลุ่ม
  • กลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและสวัสดิภาพของผู้ถูกกลั่นแกล้ง เช่น การทุบตี ทำร้าย ทำให้สะดุด แย่งสิ่งของ แสดงออกทำท่าทางหยาบคายใส่

รับมือปัญหาผู้ที่ถูกบูลลี่ กรมสุขภาพจิตได้แนะวิธีการไว้ 5 แนวทาง 

  • ไม่ตอบสนองต่อการกลั่นแกล้ง 
  • ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง 
  • เก็บหลักฐานที่ถูกกลั่นแกล้ง เพื่อปรึกษาผู้ปกครอง หรือดำเนินคดี
  • หากเกิดกรณีไซเบอร์บูลลี่ ควรรายงานกับโซเชียลมีเดียต้นทาง
  • ตัดการติดต่อ หรือบล็อกการเชื่อมต่อ พร้อมระมัดระวังไม่ให้ตัวเองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มนี้อีก

ข้อมูล : Netflix , creatrip  , stopbullying.gov , โรงพยาบาลเพชรเวช