ไม่ใช่นักเรียน แต่ใส่ชุด ผิดไหม? ว่าด้วยเทรนด์ฮิตชุดนักเรียนไทย

08 มี.ค. 2566 | 03:51 น.

ไม่ใช่นักเรียน แต่ใส่ชุดนักเรียน มีความผิดไหม? ว่าด้วยเทรนด์ฮิตชุดนักเรียนไทยในหมู่วัยรุ่นจีน กับ พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน

ชุดนักเรียนไทย กำลังเป็นเทรนด์ฮิตในหมู่วัยรุ่นจีน หลัง "จวีจิ้งอี" ดาราสาวชื่อดังชาวจีนเดินทางมาเที่ยวไทย พร้อมกับโพสต์ภาพตัวเองในชุดนักเรียน ที่ปักชื่อตัวเองเป็นภาษาไทย ส่งผลให้ชุดนักเรียนไทยได้รับความนิยมอย่างมาก นำไปสู่ไวรัลของกลุ่มนักท่องเที่ยวสาวชาวจีนใส่ชุดนักเรียนเดินเล่นย่านบางลำพู

เทรนด์นี้ หากย้อนกลับไปจะพบว่าน่าจะฮิตกันมาตลอด ด้วยว่าเคยมีกระแสจากซีรีส์ "แนนโน๊ะ Girl from Nowhere" หรือแม้แต่ซีรีส์ไทยอีกหลายเรื่อง เช่น สิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก และอีกนับไม่ถ้วน ผู้มีอิทธิพลในจีนและเยาวชนจึงเริ่มแต่งชุดนักเรียนไทย กลับกันกับที่คนไทยเคยแต่งชุดนักเรียนญี่ปุ่น เกาหลีตามแฟชั่น

เว็บไซต์ allkpop ระบุว่า นี่เป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ค่อนข้างเจ๋ง เพราะไม่บ่อยนักที่จะเห็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป๊อปในประเทศแถบเอเชียตะวันออก ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าความนิยมของวงการบันเทิงไทยในจีน/ญี่ปุ่น/เกาหลี จะเริ่มขยายไปไกล

วัยรุ่นจีนไม่ชอบเครื่องแบบนักเรียน

ชุดนักเรียนไทยฮิตในหมู่วัยรุ่นจีน มีเหตุผลที่น่าสนใจเมื่อเข้าไปตรวจสอบในเว็บไซต์ CGTN ระบุว่า เด็กวัยรุ่นจีนส่วนใหญ่คิดว่าเครื่องแบบของพวกเขาน่าเกลียด อ้างอิงการการสำรวจออนไลน์โดย Weibo ชาวเน็ตถูกถามเกี่ยวกับความคิดเห็นเกี่ยวกับชุดนักเรียนจีน เกือบครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจวิจารณ์เครื่องแบบว่าน่าเกลียด มีเพียง 10.3 เปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าเครื่องแบบดูดี 

โดยเครื่องแบบจีนสมัยใหม่ได้รับการออกแบบในปี 1950 เป็นชุดวอร์มแบบ Unisex ที่มีแจ็กเก็ตมีซิป เสื้อยืดลำลอง และกางเกงวอร์มทรงหลวม ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุสังเคราะห์น้ำหนักเบา แต่ในอีกด้านหนึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่นักเรียนเกาหลีใต้แสดงความอิจฉาชุดนักเรียนของจีน 

ไม่ใช่นักเรียน แต่ใส่ชุด ผิดไหม? ว่าด้วยเทรนด์ฮิตชุดนักเรียนไทย

 

คาใจ ทำไมต้องแต่ง “ชุดนักเรียน” 

ส่วนไทยเคยมีการตั้งคำถามมามาตลอดว่า “ทำไมต้องแต่งชุดนักเรียน” โดยเฉพาะในช่วงปี 2563 การแสดงของเด็กนักเรียนค่อนข้างมีความชัดเจน และดุเดือด ตั้งแต่ “ภาคีนักเรียน KKC” เคลื่อนไหวในข้อเรียกร้องต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาไทย หรือเเม้แต่ “กลุ่มนักเรียนเลว” ที่รณรงค์ให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนเพราะไม่สะดวกและสิ้นเปลือง แถมยังเป็นสัญลักษณ์แห่งการตีกรอบและละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และถ้าลองค้นหาในกูเกิ้ล ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมต้องแต่งชุดนักเรียน ก็จะพบการตั้งกระทู้พูดคุยถึงประเด็นนี้ 

ชุดนักเรียนไทยตามที่กฎบัญญัติ แต่งเลียนแบบผิดไหม

คำถามที่เกิดขึ้นจากเทรนด์ฮิตใส่ชุดนักเรียนไทยนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ผิดหรือไม่ หากไม่ได้เป็นนักเรียนจริงๆ เมื่อตรวจสอบ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วย เครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2551 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องแต่งกายแบบไหน ให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน หากไม่แต่ง ต้องเป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และหากไม่แต่งชุดนักเรียน โดยไม่ได้รับข้อยกเว้น อาจได้รับโทษทางวินัย 

นอกจากนี้เครื่องแบบนักเรียนยังถือเป็นมาตรฐานกลาง เพื่อประโยชน์ในการประหยัดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และสร้างวินัยให้แก่นักเรียน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองเพื่อมิให้บุคคลอื่นแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่สิทธิที่จะแต่ง ส่วนในมาตรา 7 ระบุว่าผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่งหรือแต่งกายเลียนแบบ เครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทําเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

เรื่องนี้ ทนายรัชพล ศิริสาคร โพสต์เฟซบุ๊กถึง ข้อกฎหมายที่อาจจะมีความผิด หากซื้อชุดนักเรียนมาใส่ โดยที่ไม่ใช่นักเรียน 

ไม่ใช่นักเรียน แต่ใส่ชุด ผิดไหม? ว่าด้วยเทรนด์ฮิตชุดนักเรียนไทย

มีหลากหลายความเห็นที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ใส่แบบสร้างสรรค์ ชื่นชมชุดนักเรียนไทย เป็นตัวอย่างให้เด็กไทยได้ดี น่าจะเป็นประโยชน์โปรโมทชุดนักเรียนไทย ไม่ได้ใส่เพื่อทำลายภาพลักษณ์หรือเกิดความเสียหายใด