กู้เรือหลวงสุโขทัยอับปาง ผบ.ทร. คาดใช้งบสูงกว่า 200 ล้านบาท

10 ก.พ. 2566 | 12:00 น.

ผบ.ทร. คาดกู้เรือหลวงสุโขทัยล่มอาจใช้งบสูงกว่า 200 ล้านบาท ชี้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเพราะหากเรือมีความเสียหายเพิ่มขึ้นจะไม่สามารถนำมาสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อหาสาเหตุการจมได้

10 กุมภาพันธ์ 2566 พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการกองทัพเรือ (ผบ.ทร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางว่า คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดำเนินการสอบสวนมาอย่างต่อเนื่องโดยมีการสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกำลังพลผู้รอดชีวิต และหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือทั้งจากท่าเรือบางสะพาน และเรือเอกชนอื่นๆ รวมทั้งหมด 289 ปากครบถ้วนแล้ว

ขณะนี้เหลือเพียงเรียบเรียงถ้อยความสาเหตุการจมของเรือหลวงสุโขทัยซึ่งตามที่ทราบ คือ สาเหตุหลักที่เรืออับปางเกิดจากน้ำเข้าเรือ และทางเรือไม่สามารถสูบน้ำออกได้ทัน จนกระทั่งเรือเอียง และจมลงในที่สุดซึ่งสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ต้องนำมาประมวลหาสาเหตุที่แท้จริง เบื้องต้นได้ตั้งสมมติฐานที่ทำให้เรือจมไว้หลายประเด็น

โดยผลการสอบข้อเท็จจริงจากกำลังพลที่รอดชีวิตต้องประกอบกับเรื่องของวัตถุพยานที่เรือหลวงสุโขทัยว่า ตรงตามคำให้การของผู้รอดชีวิตหรือไม่ และได้มุ่งประเด็นไปที่จุดใดบ้าง เพื่อนำมาประกอบกับผลการสอบสวนจึงเป็นประเด็นแท้จริงที่เกิดขึ้น

ส่วนประเด็นเสื้อชูชีพนั้น จากการตรวจสอบอัตราเสื้อของเรือหลวงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นเรือรุ่นเดียวกันเพียงพอสำหรับกำลังพลที่อยู่ในเรือ กล่าวคือ มีอัตราเสื้ออยู่ 120- 130 ตัว เมื่อเทียบกับเรือหลวงสุโขทัยซึ่งมีขนาดเท่ากัน

รวมทั้งได้มีการตรวจสอบกับทางกรมพลาธิการได้รับการยืนยันว่าได้แจกจ่ายจำนวนเท่ากัน คือ 130 ตัว รวมทั้งมีการเบิกเปลี่ยนเสื้อชูชีพล่าสุดก็ยืนยันว่า เพียงพอสำหรับกำลังพลที่อยู่บนเรือ 105 คน

ส่วนขั้นตอนที่ว่าบางคนมีและบางคนไม่มีเสื้อชูชีพนั้นอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนทั้งในส่วนของกำลังพลของเรือ รวมถึงกำลังพลที่มาสมทบจากหน่วยบัญชาการนาวิกโยธินและทางบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ซึ่งเรื่องนี้มีความชัดเจนและสามารถชี้แจงต่อประชาชนได้เพราะสามารถสอบถามพยานที่รอดชีวิตทุกคนว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร ทั้งเรื่องของเรือจม และขณะเรือใกล้จะจมช่วงนั้นเกิดอะไรขึ้น บางคนที่ไม่มีเสื้อชูชีพ

ส่วนเรื่องการกู้เรือนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนเนื่องจากเรือจมอยู่ในระดับน้ำลึก 40-50 เมตร การนำเรือขึ้นมาจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หากมีอุบัติเหตุ หรือ ทำให้เรือเสียหายเพิ่มมากขึ้นจะทำให้วัตถุพยานต่าง ๆ ไม่สามารถนำมาพิสูจน์ได้ จึงจำเป็นต้องเฟ้นหาบริษัทที่มีขีดความสามารถ มีเครื่องมือที่กู้เรือขึ้นมาได้ เพื่อนำมาสอบสวนข้อเท็จจริงว่า เหตุใดถึงได้จมลง

ขณะนี้ยังมีขั้นตอนการพิจารณา เลือกบริษัทที่นำเสนอเพิ่มเข้ามา ส่วนงบประมาณที่จะใช้ต้องนำเสนอไปที่หน่วยเหนือ ให้พิจารณาตามขั้นตอนซึ่งกองทัพเรือจะเป็นส่วนพิจารณาว่า จะใช้งบฯสำรองที่กองทัพเรือมีอยู่ หรือจะต้องขอจากรัฐบาล ตอนนี้ยังไม่ทราบวงเงินที่ชัดเจน ต้องรอคณะกรรมการชุดกู้เรือนำเสนอขึ้นมาแต่คาดว่า อาจจะใช้งบสูงกว่า 200 ล้านบาท

สำหรับกำลังพลที่สูญหายทั้ง 5 รายนั้น เบื้องต้นได้มีการเยียวยาในส่วนของกองทุนรวมใจไทยกองทัพเรือ และ ทุนประกันชีวิตหมู่ ได้มีการจ่ายเงินไปแล้ว 2,000,000 บาทซึ่งส่วนที่เหลือต้องรอให้ศาลสั่งว่าเป็นผู้สูญหายก่อนตามกฏหมาย จึงจะมีการดำเนินการจ่ายเงินที่เหลือได้

ทั้งนี้ กองทัพเรือได้จัดเจ้าหน้าที่ดูแลญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตและสูญหายอย่างต่อเนื่องด้วย