ลูกหนี้ไม่คืนเงิน เจ้าหนี้แจ้งความได้ไหม กระทรวงยุติธรรม ไขข้อข้องใจ

06 มี.ค. 2567 | 23:24 น.

เมื่อเจ้าหนี้เจอปัญหา ให้ยืมเงินไป แต่สุดท้ายลูกหนี้ไม่คืนเงิน เจ้าหนี้มีสิทธิตามกฎหมายแค่ไหน เจ้าหนี้แจ้งความตำรวจได้หรือไม่ กระทรวงยุติธรรม กางกฎหมาย ไขข้อข้องใจ

 "ยืมเงินไม่คืน แจ้งความได้หรือไม่" บรรดาเจ้าหนี้ที่ให้กู้ยืมเงินไปแล้ว แต่กลับไม่ได้รับการชำระหนี้คืน โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ใช่ "เจ้าหนี้นอกระบบ" ตามที่รัฐบาลได้เปิดให้มีการลงทะเบียนแก้หนี้กันไปก่อนหน้า แต่เป็นเจ้าหนี้ที่ให้หยิบยืมกันโดยไม่ได้หวังหากำไรจากดอกเบี้ยจนเกินกฎหมายกำหนด เมื่อลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ แล้วเจ้าหนี้ทำอะไรได้บ้าง

ลูกหนี้ไม่คืนเงิน เจ้าหนี้แจ้งความได้ไหม กระทรวงยุติธรรม ไขข้อข้องใจ

เพจสำนักงานกิจการยุติธรรม ได้เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า "การกู้ยืม" ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ระบุว่า การกู้ยืมเงินมากกว่า 2,000 บาทขึ้นไปนั้น หากไม่มีเอกสารสัญญากู้ยืมเงิน ที่ลงลายมือชื่อของผู้ยืม (ลูกหนี้) แล้ว เจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับคดีกับลูกหนี้ไม่ได้ 

แต่อย่างไรก็ตามการกู้ยืมเงินเป็นบทบังคับให้บุคคลกระทําตามหน้าที่ที่มีอยู่ ซึ่งในกฎหมายแพ่ง หน้าที่นั้นคือ การชําระหนี้ของลูกหนี้ หากลูกหนี้ไม่ชําระจึงต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง โดยการฟ้องคดีแพ่งจะต้องให้ทนายความเป็นผู้ยื่นฟ้องคดีต่อศาล 

ต่างกับคดีอาญา ที่สามารถฟ้องได้ 2 วิธีคือ โดยการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่สถานีตํารวจ หรือ ว่าจ้างทนายความให้ทําเรื่องฟ้องร้องคดีเอง ดังนั้นหากลูกหนี้ไม่จ่ายหนี้ เจ้าหนี้ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง การไปแจ้งความตํารวจเพื่อให้ดําเนินคดีเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินจึงไม่สามารถทําได้ และตํารวจไม่มีอํานาจไปฟ้องคดีแพ่งแทนผู้เสียหายได้เช่นกัน

ลูกหนี้ไม่คืนเงิน เจ้าหนี้แจ้งความได้ไหม กระทรวงยุติธรรม ไขข้อข้องใจ

ทั้งนี้ คดีแพ่ง เป็นคดีที่เสนอคําฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้รับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิ ของบุคคลในทางแพ่ง หรือเพื่อการใช้ซึ่งสิทธิหรือหน้าที่ เป็นคดีที่ไม่มีผลให้บุคคลที่ถูกฟ้องต้อง รับโทษทางอาญา

คดีแพ่งเป็นคดีที่ศาลมีคําพิพากษาบังคับให้บุคคลกระทำตาม หน้าที่ที่มีอยู่ตามกฎหมายแพ่ง จึงมุ่งที่สิทธิของโจทก์ หรือตัวโจทก์อันเป็นเรื่องของเอกชน ตัวอย่างเช่น คดีร้องเป็นผู้จัดการมรดก คดีสัญญาซื้อขายที่ดิน คดีผิดสัญญา คดี เช่าซื้อรถ คดีฟ้องหย่า คดีละเมิด เป็นต้น

ส่วนคดีอาญา เป็นคดีที่ศาลมีคําพิพากษาลงโทษบุคคลที่ไม่งดเว้นกระทำ ตามหน้าที่ที่มีกฎหมายอาญาบัญญัติห้ามไม่ให้กระทํา ผู้ฟ้องคดีคือโจทก์ไม่ได้ร้องขอบังคับตามสิทธิของตน แต่เป็นการกล่าวหาว่าจําเลยกระทําความผิด

ขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจําเลย ไม่ได้บังคับให้จําเลยกระทําการอันใด จึงมุ่งที่ความผิดที่จําเลยกระทําอันเป็นเรื่องของมหาชน ตัวอย่างของ คดีอาญาเช่น ความผิดฉ้อโกง ความผิดลักทรัพย์ ความผิดฆ่าผู้อื่น ความผิดประมาท คดีทําร้ายร่างกาย เป็นต้น