เปิดหน้าที่ "บอร์ดประกันสังคม" หลังได้ชุดใหม่จากการเลือกตั้ง

24 ธ.ค. 2566 | 23:09 น.

เปิดหน้าที่ "บอร์ดประกันสังคม" หรือคณะกรรมการประกันสังคม พร้อมเปิดรายชื่อผู้ได้คะแนนสูงสุด หลังได้ชุดใหม่จากการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศ

การเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) ครั้งแรกของประเทศไทย ในวันที่  24 ธันวาคม 2566 เพื่อสรรหาผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ได้เสร็จสิ้นลงไปแล้ว 

โดยผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ หลังนับคะแนนได้ 100 % ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 7 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ดร.มนตรี ฐิรโฆไท 
  2. นางวิภาพรรณ มาประเสริฐ 
  3. นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง 
  4. นายสมพงศ์ นครศรี 
  5. นายสุวิทย์ ศรีเพียร 
  6. นายทวีเกียรติ รองสวัสดิ์ 
  7. น.ส.เพชรรัตน์ เอกแสงกุล 

ส่วนผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง 7 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 
  2. นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน 
  3. นายชลิต รัษฐปานะ 
  4. นายศิววงศ์ สุขทวี 
  5. น.ส.นลัทพร ไกรฤกษ์ 
  6. นางลักษมี สุวรรณภักดี 
  7. นายปรารถนา โพธิ์ดี 

เปิดหน้าที่ "บอร์ดประกันสังคม"

1. เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี เกี่ยวกับโยบายและมาตรการในการประกันสังคม

2. พิจารณาให้ความเห็นต่อรัฐมนตรีในการตรา พ.ร.ก.การออกกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆ

3. วางระเบียบโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินของกองทุน

4. วางระเบียบโดยความเห็นของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับการจัดหาผลประโยชน์ของกองทุน

5. พิจารณางบดุลและรายการรับเงินของกองทุน และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของสำนักงาน ในส่วนที่เกี่ยวกับการประกันสังคม

6. ให้คำปรึกษาและแนะนำแก่คณะกรรมการอื่นหรือสำนักงาน

7. ปฏิบัติการอื่นใด ตามที่กฎหมายหรือตามที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานมอบหมาย

กองทุนประกันสังคม มีเงินสะสมอยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท คือ กองทุนที่รัฐบาลไทยจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้แก่ลูกจ้างที่มีรายได้ในประเทศ ใช้บังคับกับสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป

ซึ่งนายจ้าง และลูกจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยเงินสมทบที่ได้มาจะถูกนำไปจัดตั้งเป็นกองทุนและจ่ายเป็นผลประโยชน์ทดแทน หรือให้ความคุ้มครองความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน เพื่อให้ได้รับการรักษาพยาบาลและมีการทดแทนรายได้อย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้วิเคราะห์ปัญหา และตั้งข้อสังเกตต่อกองทุนประกันสังคมไว้ว่า 2 ปัญหาหลักที่ผู้ประกันตนมักจะสะท้อนออกมา คือ สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล และ ความยั่งยืนของกองทุนชราภาพ

มีงานวิจัยหลายชิ้นระบุไปในทิศทางเดียวกันว่ามีความเป็นไปได้ที่กองทุนชราภาพจะมีเงินสะสมไม่พอจ่าย และผู้ประกันตนที่ต้องเจียดแบ่งเงินรายได้ของตัวเองเพื่อสมทบกองทุนทุกเดือน มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินบำนาญชราภาพในวัยเกษียณ

ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้าสู่กองทุน ไม่ได้รับทราบข้อมูลเหมือนกับกองทุนอื่นๆว่า จ่ายสะสมไปแล้วเท่าไหร่ แล้วเราจะได้สิทธิเท่าไรเมื่อเราเกษียณอายุ สิทธิของเราจะคงอยู่หรือไม่ จะมีความยั่งยืนไหม ควรให้ข้อมูลให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ เหมือนกับที่กองทุนต่างๆ ในแง่สิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนควรจะได้ทราบสิ่งเหล่านี้ ได้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิตัวเองและไม่รู้สึกว่ามันเกิดความเหลื่อมล้ำในระหว่างสิทธิสวัสดิการกับกลุ่มอื่นๆ

ผู้ประกันตนคาดหวังว่าเงินที่ส่งเข้าไปสู่กองทุนมีการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่ เงินบริหารจัดการปีละ 5,000 ล้านบาทถูกใช้กับเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง มีความโปร่งใสและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่

เมื่อคณะกรรมการกองทุนฯ มีการตัดสินใจเรื่องที่สำคัญๆ สิ่งที่ผู้ประกันตนควรรู้แต่ไม่ได้รู้ ผลการประชุมของคณะกรรมการประกันสังคมมีอะไรบ้าง ผู้ประกันตนก็อยากจะรู้บ้างว่าที่ผ่านมามีการใช้เงินเราในการบริหารจัดการอย่างไร ซึ่งก็ควรจะต้องมีการเปิดเผยให้ผู้ประกันตนรับทราบอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกันก็จะต้องไปเร่งรัดเก็บเงินสมทบค้างจ่ายให้กับประกันสังคมในแต่ละปีที่ไม่มีการสมทบเข้ามาในกองทุน ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่สูงมากถึง 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ถ้ามีการนำไปลงทุน ก็จะทำให้เกิดรายได้เข้ามา แต่พอมาค้างจ่ายแบบนี้ทำให้รายได้ของสำนักงานประกันสังคมหายไป ประมาณปีละ 2 พันล้านบาท ซึ่งคนที่ค้างจ่ายหลักๆ เลยคือภาครัฐ

การนำเงินกองทุนไปลงทุนถ้ามีผลตอบแทนที่ดีก็จะช่วยยืดอายุกองทุนได้ โดยเฉพาะเงินในส่วนของชราภาพกว่า 2 ล้านล้านบาท  มูลค่าผลตอบแทนการลงทุนในแต่ละปีทำได้เยอะมาก ถ้าทบต้นไปก็จะช่วยในแง่ของความยั่งยืนของกองทุนด้วย แต่ถ้าเราทำ แก้ไข ปรับปรุง เพื่อให้มันยืนยาวมันก็จะยืดระยะไปได้จนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ ถึงเวลาวันที่เราจะได้รับเงินชราภาพ เราก็มั่นใจว่าเราจะได้รับเงินแน่นอน

ที่มา : สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ,