เบรก! กระทรวงยุติธรรม ออกกฎหมายป้อง ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

02 ก.พ. 2566 | 03:55 น.

ฮือฮา หลังกระทรวงยุติธรรม ชงครม.ขอออกกฎหมายป้อง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทำผิด หลายหน่วยงานรุมเบรก ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา หวั่นกระทบภาระงบประมาณ

กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดเห็นชอบในหลักการเรื่องการสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (Law of Efficiency) ตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอ โดยเตรียมศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายกลางเพื่อเป็นการวางมาตรฐานในการคุ้มครองการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ 

โดยระบุว่า การผลักดันกฎหมายกลางออกมา เพื่อเสริมสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกล้าตัดสินใจในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์ของราชการและการให้บริการสาธารณะ ซึ่งครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป นั้น 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า หลายหน่วยงานได้มีข้อทักท้วงระบุเอาไว้ในเอกสารที่เสนอเข้ามาในที่ประชุมครม.ด้วย โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ (กพยช.) ซึ่งพิจารณาเรื่องดังกล่าว พร้อมมีความเห็นดังนี้ 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ฮือฮา รัฐเล็งออก "กฎหมายป้อง" ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

 

ภาพประกอบข่าว "กฎหมายป้อง" ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

วิธีแก้ไม่ใช่ออกกฎหมายใหม่

ทั้งสองหน่วยงาน พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 27 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรของรัฐไว้ว่า มีสิทธิและเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป 

ดังนั้น การปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตจึงย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญโดยตรงอยู่แล้ว ปัญหาที่ควรต้องแก้ไขในกรณีนี้จึงไม่ใช่การตรากฎหมายขึ้นมาสร้างหลักประกันดังกล่าวอีก เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายสูงสุดอยู่แล้ว 

อย่างไรก็ดี สมควรที่จะพิจารณาว่ากระบวนการยุติธรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเปิดช่องให้ผู้มีไถยจิต (จิตที่คิดจะขโมย/กระทำผิด) ใช้เป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งผู้สุจริตอย่างไร และสมควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างไร เช่น สมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอย่างไร เพื่อมิให้มีการแจ้งความหรือการฟ้องคดีแก้เกี้ยวกันไปมา 

 

ภาพประกอบข่าว "กฎหมายป้อง" ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

หวั่นกระทบภาระงบประมาณ

นอกจากจะเป็นภาระแก่เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่องแล้ว ยังเป็นภาระงบประมาณด้านการยุติธรรมโดยไม่จำเป็น โดยการนำกลไกตามกฎหมายต่างประเทศเข้ามาใช้กับประเทศไทยต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบอย่างรอบคอบ เนื่องจากแต่ละประเทศมี "บริบท" ต่าง ๆ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง มิฉะนั้นคงเป็นการสร้างปัญหาใหม่ขึ้น 

จึงสมควรต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบตามพระราชบัญญัติ หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 ด้วย 

นอกจากนี้ประธาน กพยช. เห็นว่า การให้ความสำคัญกับการอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ รัฐเข้าใจบทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบ และต้องรู้กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ อย่างเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ ย่อมจะสามารถสร้างหลักประกันความเป็นธรรมให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้เช่นกัน

 

ภาพประกอบข่าว "กฎหมายป้อง" ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐทำผิด

 

ต้องเปรียบเทียบกฎหมายไทย-ต่างประเทศ

การจะนำกลไกตามกฎหมายต่างประเทศเข้ามาใช้กับประเทศไทยต้องมีการศึกษาเปรียบเทียบอย่างรอบคอบ โดยต้องวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งกันระหว่างกฎหมายกลาง กับกฎหมายเฉพาะ หรือเกิดปัญหาในทางปฏิบัติ 

โดยการตรากฎหมายควรกระทำเพียงเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ประชาชน เกิดความคุ้มค่ากับภาระที่จะเกิดขึ้นแก่รัฐและประชาชน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว

แนะศึกษาข้อมูลรอบด้านยึดสิทธิประชาชน

เช่นเดียวกับสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีข้อสังเกตเพิ่มเติมสอดคล้องกันว่า ที่ควรต้องแก้ไขจึงอาจไม่ใช่การตรากฎหมายขึ้นมาสร้างหลักประกันดังกล่าวอีก แต่ควรที่จะต้องพิจารณาถึงการตีความกฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ การกำหนดบทบัญญัติเพิ่มเติมจากกฎหมายสารบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น 

โดยกระทรวงยุติธรรมควรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ก.พ.ร. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างรอบด้านและครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะความซ้ำซ้อนของกฎหมาย ที่มีอยู่ในปัจจุบันและความจําเป็นในการตรากฎหมาย หลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานในการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐ 

เช่นเดียวกับสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมจากการใช้อำนาจรัฐในการปฏิบัติงานโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ โดยพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้วนำเสนอคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรม พิจารณาในภาพรวมก่อน