4 คดีฉ้อโกงมาแรง! เดือน ม.ค. หลอกลงทุน-ชวนโอนเงิน ต้องระวัง

29 ม.ค. 2566 | 08:17 น.

โจรออนไลน์ - มิจฉาชีพ อาละวาดหนัก! ตำรวจเผย 4 กลโกงมาแรง เดือน ม.ค. เตือนประชาชนระวัง กลโกง หลอกลงทุนกับสถาบันติว , ขายสินค้าหลุดจำนำ ,หลอกโอนเงินโครงการประชารัฐ และ อ้าง CP ALL ป้องกันได้ ห้ามกดลิงค์

ฐานเศรษฐกิจ เกาะติดรายงานเตือนภัยเกี่ยวกับกลโกงของมิจฉาชีพ โจรออนไลน์ ที่ยังคงใช้กลวิธีสารพัดรูปแบบ หลอกให้คนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ตกเป็นเหยื่อ 

โดยจากข้อมูลล่าสุดของ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ เผยว่า พบคดีที่น่าสนใจควรเตือนประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อฉ้อโกง 4 คดี ดังนี้ 

  1. หลอกให้ลงทุนกับสถาบันติวสอบครูผู้ช่วย
  2. ปลอมเพจโรงรับจำนำอีซี่มันนี่หลอกขายสินค้าหลุดจำนำ
  3. หลอกให้โอนเงินโดยอ้าง “โครงการประชารัฐ” 
  4. หลอกลงทุนอ้างบริษัทยักษ์ใหญ่ “CP ALL” 

 

สรุปคดีเกี่ยวกับภัยออนไลน์
 

พบแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

นอกจากนี้พบว่ากลุ่มโจรออนไลน์ยังแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร หลอกลวงประชาชน โดยหลอกให้ติดตั้งโปรแกรมควบคุมมือถือระยะไกล ลงในมือถือ หลอกว่าจะคืนภาษี ทวงภาษี หรือให้เราตรวจสอบการเสียภาษี

โดยการตรวจสอบผ่านโปรแกรมที่ส่งเป็นลิงค์มาให้โหลด ซึ่งเป็นโปรแกรมที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมาเพื่อหลอกเราโดยตรง เมื่อมือถือถูกมิจฉาชีพเข้าควบคุม ซึ่งมีคนตกเป็นเหยื่อมาแล้วหลายราย

เบื้องต้นให้ตั้งสติ แล้วรีบกดปุ่มปิดมือถือให้ไว เพื่อตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตในเครื่อง แล้วคนร้ายจะไม่สามารถใช้งานบนมือถือเราได้ แล้วรีบติดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ใกล้เคียงไว้เป็นหลักฐานเพื่ออายัดบัญชีของเราไว้ก่อน

แนวทางป้องกันมิจฉาชีพ ห้ามกดลิงค์

ทั้งนี้ ข้อสังเกตหากมีข้อความต่างๆจากภาครัฐแจ้งมาทางมือถือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลย ว่าเป็นมิจฉาชีพ เพราะหน่วยงานภาครัฐจะแจ้งเป็นหนังสือเพื่อให้มาทำธุรกรรมต่างๆที่สถานที่โดยตรง จะไม่ให้ทำธุรกรรมทางออนไลน์ หากมีลิงค์ให้เรากดเข้าไป อย่าหลงเชื่อเด็ดขาด

สำหรับแนวทางในการป้องกันกรณีนี้ คือ

  • อย่าคลิกลิงค์ใดๆ จากคนไม่รู้จักและที่ดูดีมีประโยชน์เกินจริง
  • อย่ายอมให้ใคร remote เข้าเครื่องได้ การ remote เจ้าของเครื่องต้อง accept เขาจึงจะเข้าได้ หากเราไม่ accept ผ่านหน้าจอเราเข้าก็เข้าไม่ได้
  • อย่าพิมพ์ PIN หรือรหัสผ่านอะไรไว้ตาม note หรืออะไรในมือถือ ถ้าจะพิมพ์ก็เอาที่ใกล้เคียง พอให้เราช่วยนึกออกก็พอ อย่าเขียนตรงๆ เพราะโจรจะเดายาก ถ้าเดาผิดหลายครั้ง ระบบก็จะ lock โจรก็ทำรายการไม่ได้ เราอาจจะลำบากไปปลดล็อกกับด้วยตัวเอง แต่ก็ปลอดภัยกว่าให้โจรเข้าระบบเราได้

ภาพประกอบข่าวตัวอย่างภัยออนไลน์

 

ที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ