กรมควบคุมมลพิษ ยกระดับจัดการน้ำเสียชุมชน พื้นที่ภาคเหนือ

24 ธ.ค. 2565 | 14:10 น.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ติดตามตรวจสอบสถานการณ์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินพื้นที่ภาคเหนือส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า คพ.ได้ติดตามตรวจสอบสถานการณ์คุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินพื้นที่ภาคเหนือ (ข้อมูล ปี 2564)  ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ เนื่องมาจากการระบายน้ำทิ้งจากชุมชนเมือง ชุมชนที่อาศัยริมน้ำ การท่องเที่ยว รีสอร์ทหรือโรงแรม และพื้นที่เกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการปศุสัตว์ที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน

 

 

โดยพื้นที่ภาคเหนือมีปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นประมาณ 1.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมชุมชนและระบบบำบัดน้ำเสียแบบกลุ่มอาคารจำนวนรวม 28 แห่ง มีความสามารถในการรองรับน้ำเสียรวม 258,866 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่มีปริมาณน้ำเสียเข้าระบบเฉลี่ยเพียง 113,804 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เนื่องมาจากปัญหาการรวบรวมน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสีย ทำให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้รับการบำบัดและถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม

 

 

นายปิ่นสักก์ กล่าวว่า จากการขยายตัวของชุมชนเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนยังไม่ครอบคลุมพื้นที่เขตชุมชนเมืองโดยเฉพาะในเขตเทศบาลขนาดใหญ่ ทำให้น้ำเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่นอกเส้นท่อรวบรวมน้ำเสียไม่ได้รับการบำบัด ประกอบกับท้องถิ่นส่วนใหญ่ยังไม่มีการวางแผนการจัดการน้ำเสียชุมชนที่เหมาะสม ดังนั้นการติดตามตรวจสอบประสิทธิภาพการดำเนินงานของระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียและการบริการจัดการที่ดีจึงมีความสำคัญในการผลักดันให้มีการบำบัดน้ำเสียที่ดีขึ้น และยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้แผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580)

คพ. จึงจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพการจัดการน้ำเสียชุมชนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกลุ่มภาคเหนือระหว่างวันที่ 22 – 23 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมเอเชียลำปาง จังหวัดลำปาง โดยได้มอบหมายให้นายพิทยา ปราโมทย์วรพันธุ์ รองอธิบดี เป็นประธานเปิดการประชุม

 

 

การฝึกอบรมครั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในการจัดการน้ำเสียชุมชน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ปัญหา และอุปสรรค ในการจัดการน้ำเสียชุมชนจากกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ มีเป้าหมายในการช่วยให้เกิดการจัดการน้ำเสียชุมชนในพื้นที่ที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำที่ดีขึ้นโดยลำดับ โดยมีผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด แหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดจัดการฝึกอบรมเรื่องดังกล่าวทุกภูมิภาค จำนวน 4 ครั้ง นายปิ่นสักก์ กล่าว