ส่องกลโกง ชักชวน 'ซื้อหุ้น' กลต.เตือน ฉุกคิดให้ดี ระวังถูกหลอก!

11 ธ.ค. 2565 | 08:11 น.

ชักชวนให้ร่วมเป็น 'เจ้าของกิจการ' กลโกงไม่เข้าใครออกใคร บางทีอาจมาถึงตัวเราง่าย ๆ ผ่านการถูกชักชวนให้ลงทุน 'ซื้อหุ้น' ขณะ กลต. ชวนรู้เท่าทัน 3 เรื่อง ก่อนเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

11 ธ.ค.2565 -ปัจจุบันในยุคที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงโลกออนไลน์ และใช้โซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลาย ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ทำให้ผู้ไม่หวังดีสามารถเข้ามาชักชวนให้ระดมทุนด้วยการโฆษณาชวนเชื่อประกาศขายหุ้นออกสื่อโซเชียลที่แพร่หลายในวงกว้างได้เหมือนกัน


อย่างไรก็ดี ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นที่ประกาศชักชวนทางออนไลน์นั้น กลต. ชวนรู้เท่าทันการลงทุน เบื้องต้น 3 เรื่อง ดังนี้ 

ส่องกลโกง ชักชวน \'ซื้อหุ้น\' กลต.เตือน ฉุกคิดให้ดี ระวังถูกหลอก!
 

  • รู้เท่าทัน เกณฑ์การขายหุ้น

กรณีเป็นบริษัทจำกัด ไม่สามารถชี้ชวนประชาชนให้ซื้อหุ้นได้ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1102* และหากที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัทจำกัดนั้น มีมติพิเศษให้เพิ่มทุน กรรมการของบริษัทมีหน้าที่ต้องเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ถ้าผู้ถือหุ้นเดิมคนใดไม่ซื้อ ผู้ถือหุ้นเดิมจะซื้อหุ้นนั้น หรือกรรมการจะซื้อไว้เองก็ได้ จะเสนอขายให้บุคคลภายนอกไม่ได้ ตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1222*
 

ในกรณีที่ต้องการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จะต้องเป็นบริษัทมหาชนจำกัด (บมจ.) และต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) คือ ต้องได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. และมีหนังสือชี้ชวนให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลก่อนลงทุน

 

อย่างไรก็ดี มีกรณีที่คณะกรรมการ กตท. ออกประกาศตามมาตรา 34 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถเสนอขายหุ้นต่างไปจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่น การเสนอขายผ่านระบบคราวด์ฟันดิง** ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ฉะนั้น หากพบเห็นการเสนอขายหุ้นของบริษัทผ่านสื่อออนไลน์หรือโซเชียลมีเดีย ให้ฉุกคิดและตั้งคำถามไว้ก่อนว่า ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ 

 

  • รู้เท่าทัน ลักษณะการชักชวนที่ต้องระวัง

หากการชักชวนให้ลงทุนด้วยการซื้อหุ้นนั้น พ่วงมากับการเสนอผลตอบแทนหรือเงินปันผลสูงเกินจริง เช่น 12% ต่อเดือน หรือ 20% ต่อเดือน และยังการันตีผลตอบแทนเพราะหากพิจารณาตามหลักความเป็นจริง แม้แต่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างตราสารทุนยังให้ผลตอบแทน
เฉลี่ยราว 10% ต่อปี1เท่านั้น เมื่อมีการเสนอผลตอบแทนหรือปันผลถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปี ต้องฉุกคิดไว้ก่อนว่า เป็นไปได้หรือไม่ นำรายได้มาจากไหน เพราะไม่แน่ว่า อาจจะเป็นการนำรายได้จากผู้ที่มาทีหลังจ่ายให้ผู้ที่มาก่อนตามสไตล์แชร์ลูกโซ่ 
แน่นอนว่า ผู้ชักชวนจะพยายามสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการไปจดทะเบียนบริษัทไว้ก่อน โพสต์ภาพความสำเร็จหรือผลงานออกสื่อ พาตัวเข้าไปอยู่ในพื้นที่สื่อ สร้างสตอรี่ผ่านภาพให้เห็นการขยายธุรกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นแพทเทิร์นที่เห็นได้บ่อยครั้งในการจูงใจ


5 รูปแบบชักชวนลงทุนที่มักจะมาใช้จูงใจ

  1. ให้ผลตอบแทนสูงเกินจริง เช่น 12% ต่อเดือน หรือ 20% ต่อเดือน ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้
  2. การันตีผลตอบแทน ซึ่งการลงทุนทั่วไปมักจะไม่สามารถการันตีให้ผลตอบแทนสูงเกินจริงที่แน่นอนได้
  3. เร่งรัดให้ตัดสินใจ อ้างว่าจะตกขบวน เพราะใคร ๆ ก็ลงทุน 
  4. แอบอ้างบุคคลมีชื่อเสียง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  5. ธุรกิจไม่ชัดเจน จับต้องไม่ได้ เน้นขายหุ้นระดมทุนมากกว่าการทำธุรกิจจริง

 

หากพบการชักชวนที่เข้าข่ายรูปแบบ 5 ข้อดังกล่าว ต้องระวังให้มากอย่าเพิ่งหลงเชื่อเด็ดขาด

 

  • รู้เท่าทันช่องทางตรวจสอบ

เมื่อถูกชักชวนหรือพบเบาะแสการชักชวนประชาชนทั่วไปให้ซื้อหุ้น ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัท บุคคล และผลิตภัณฑ์ (หุ้น) ที่มาเสนอขายว่าได้รับอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. หรือไม่ ได้ทางแอปพลิเคชัน SEC Check First หรือทาง เว็บไซต์ www.sec.or.th หากไม่พบรายชื่อ ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจจะมาด้วยความไม่หวังดี นอกจากนี้ ยังตรวจสอบรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังที่หมวด Investor Alert ได้อีกทางหนึ่งด้วย และถ้าหากอ้างว่าลงทุนแล้ว จะได้รับใบหุ้นด้วย ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ใบหุ้นนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ และมีชื่อในรายชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้นหรือไม่ เพราะเพียงได้ใบหุ้นมา ยังไม่ได้การันตีว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว หากไม่มีรายชื่อในทะเบียนผู้ถือหุ้น ใบหุ้นที่ถืออยู่อาจไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมายปกป้องตนเองจากการถูกหลอก ด้วยการสังเกตและฉุกคิด เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยจากบทเรียนภัยกลโกงที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีต เมื่อถูกชักชวนให้ลงทุนหรือซื้อหุ้น อย่าเพิ่งหลงเชื่อ เพราะการตกขบวนไม่น่ากลัวเท่าการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

 

ที่มา : กลต.