เตือนภัย กินค้างคาว เสี่ยงเป็นโรค – ติดคุก

10 พ.ย. 2565 | 04:33 น.

สัตวแพทย์ - กรมควบคุมโรค เตือนภัย กินค้างคาว เสี่ยงเป็นโรค มีไวรัสถึง 60 ชนิด หากจับได้ง่าย ค้างคาวอาจป่วย ซ้ำความผิดตามกฎหมาย ทั้งจำคุกไม่เกิน 5ปี และปรับหนัก

จากกรณี ครูสาวทำคอนเทนต์โชว์เปิบเมนูพิสดาร กินค้างคาว ก่อนเผยแพร่ลงเพจเฟซบุ๊กซึ่งมีผู้ติดตามกว่า 1.2 ล้านคน จนล่าสุด ต้องออกมา ไลฟ์ขอโทษผ่านเฟซบุ๊กตัวเอง พร้อมยืนยันว่า ต่อไปจะไม่ทำคลิปแบบนั้นอีกแล้ว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ  สภ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร ได้แจ้งข้อหาดำเนินคดีในความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ และตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตาม ม.92 (ม.17) ฐานครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองฯ โทษจำคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎหมาย ทางด้าน สัตวแพทย์ ต้องเร่งออกโรงเตือน ผู้นิยมเปิบเมนูพิษดาร ถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานเมนูประหลาดเหล่านี้

 

น.สพ.เกษตร สุเตชะ อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ ตนในฐานะสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยและบริการวิชาการทางสัตวแพทย์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน มีความเป็นห่วงว่า อาจจะก่อให้เกิดโรคระบาดที่มีค้างคาวเป็นต้นตอของโรคอีก เพราะค้างคาวเป็นแหล่งรังโรคและเป็นสัตว์ที่สะสมเชื้อโรคเยอะมาก มีรายงานการเจอไวรัสมากกว่า 60 ชนิดในค้างคาว ซึ่งบางชนิดก็ก่อโรคในคนได้ และยังแพร่ระบาดไม่หายถึงทุกวันนี้ เช่น ไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ไวรัสอีโบลา ไวรัสซาร์ส ไวรัสเมอร์ส ไวรัสนิปาห์ ที่ทำให้เกิดโรคสมองอักเสบ และอย่าลืมว่าต้นตอของโรคโควิด-19 ที่อู่ฮั่น ประเทศจีน ก็มาจากค้างคาวเช่นเดียวกัน 

เตือนภัย กินค้างคาว เสี่ยงเป็นโรค – ติดคุก

ด้านกรมควบคุมโรค นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า พฤติกรรมการรับประทานค้างคาว ถือว่าไม่ควรรับประทาน เนื่องจากค้างคาวเป็นสัตว์ป่า และปกติมีคลื่นโซนาร์ในตัว ประกอบกับเป็นสัตว์ที่บินสูง ไม่น่าที่จะจับมารับประทานได้ง่าย  

ถ้าจับได้ง่าย หรือตกลงกับพื้น แสดงว่าค้างคาวตัวนั้นอาจเป็นโรค  การติดเชื้อจากค้างคาวก็เหมือนกับการติดเชื้อไข้หวัดนก  ที่ไม่ได้เป็นการติดเชื้อจากรับประทาน เพราะการปรุงสุกเชื้อก็ตายหมด  แต่เป็นการติดเชื้อระหว่างการปรุงมากกว่า เพราะขั้นตอนการปรุง ต้องจับถอนขน สัมผัสสารคัดหลั่ง ก็อาจเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อทั้งไวรัส และแบคทีเรีย
 


โดยเชื้อไวรัสอันดับที่ 1 ที่จะพบได้ในค้างคาว ได้แก่ นิปาห์ไวรัส  (Nipah) รองลงมา โคโรนาไวรัส   ซึ่งการติดเชื้อนิปาห์ไวรัส นั้น เคยมีการเกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย  และมีคนเสียชีวิต โดยค้างคาวไปแพร่เชื้อในหมู และคนก็ติดเชื้อจากหมู  โดยลักษณะหมูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ก็มีความคล้ายกับคน ดังนั้น ไม่จำเป็นอย่าไปรับประทาน  กินอย่างอื่นดีกว่า  เพราะปกติลำพังมูลค้างคาวก็สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจได้

ส่วนความผิดเบื้องต้น ตามรายงานข่าว คือ ความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ และตามพรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ตาม ม.92 (ม.17 ) ฐานครอบครองซากสัตว์ป่าคุ้มครองฯ นั้น

พระราชบัญญัติ สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 

มาตรา 92 ระบุโทษ ของผู้ที่ครอบครองสัตว์ป่า ที่เป็นสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่า ที่ไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 17) ว่ามีโทษ จำคุกไม่เกิน 5ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000บาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ 

 

พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 

มาตรา 14
(1)    นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหาย แก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
(2)    นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิด ความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคง ในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิด ความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3)    นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4)    นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูล คอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5)    ผู้ใดเผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)
มี โทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ