ข่าวดี ! Pfizer ทดลองยาเม็ดชนิดรับประทานรักษาโควิด-19โดยตรงแล้ว

30 ก.ย. 2564 | 01:14 น.

หมเฉลิมชัยเผยข้อมูล Pfizer ทดลองยาเม็ดชนิดรับประทานรักษาโควิด-19โดยตรงแล้ว ล่าสุดเดินหน้าเข้าสู่เฟส 2/3 เพื่อดูประสิทธิผลในการรักษาจริง

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ข่าวดี !! Pfizer ทดลองยาเม็ดชนิดรับประทาน เพื่อรักษาโควิดโดยตรงแล้ว
จากสถานการณ์โควิดระบาดทั่วโลก และความหวังหลักของมนุษย์คือ การใช้วัคซีนในการป้องกัน ซึ่งก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง แต่หลังจากที่มีไวรัสกลายพันธุ์ ก็พบว่าวัคซีนเป็นจำนวนมากมีประสิทธิผลในการป้องกันลดลง แต่ยังช่วยป้องกันการนอนโรงพยาบาล และเสียชีวิตได้มาก
นักวิทยาศาสตร์จึงทุ่มเทอีกด้านหนึ่งคู่ขนานกันไปคือ การวิจัยพัฒนายารักษาโรค ในกรณีที่ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีนแล้ว
ยาจะได้เข้ามาช่วยรักษา ไม่ให้ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตได้
ในช่วงที่ผ่านมา ยาที่ใช้หลายชนิดมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการต้องฉีดเข้าเส้นเลือดดำ และต้องนอนโรงพยาบาลก่อน เช่น
1.ภูมิคุ้มกันโมโนโคนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibody)
2.สเตียรอยด์ (Dexamethasone)
3.Remdesivir

การวิจัยเพื่อหายาชนิดรับประทาน จึงเป็นความหวัง ที่จะทำให้มีการกระจายยาออกไปกว้างขวาง และใช้ได้รวดเร็วทันทีตั้งแต่ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการและต้องเข้านอนโรงพยาบาล
ขณะนี้บริษัท Pfizer ได้แถลงความคืบหน้าว่า ยาต่อต้านไวรัส (Antiviral Drug : PZ 07321332 ) ซึ่งได้เริ่มทดลองในมนุษย์เฟส 1 มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564  และได้ผลดี
ขณะนี้ได้เดินหน้าเข้าสู่ เฟส 2/3 แล้ว ซึ่งจะเป็นการดูประสิทธิผลในการรักษาจริง
โดยใช้อาสาสมัครที่อายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 2660 คน 1/3 จะได้รับยาหลอก และอีก 2/3 จะได้รับยารับประทาน วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5-10 วัน
โดยยาดังกล่าวออกฤทธิ์ในการ ยับยั้งเอนไซม์ที่ไวรัสใช้ในการเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ ( Protease inhibitor )

Pfizer ทดลองยาเม็ดเพื่อรักษาโควิด ccccccccccccccccccccccccccccccccccccccccc
ซึ่งยาดังกล่าวนี้ อยู่ในกลุ่มซึ่งเคยใช้ได้ผลดีในการรักษาควบคุมโรคเอดส์และโรคไวรัสตับอักเสบซี เรื่องผลข้างเคียงและความปลอดภัยจึงไว้ใจได้ในระดับหนึ่ง
โดยความคาดหวังของยาดังกล่าวคือ จะใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่นอยู่ในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อชัดเจน หรือในกรณีที่ตรวจด้วยชุดทดสอบตนเองที่บ้าน (ATK) แล้วพบว่าติดเชื้อ แต่ยังไม่แสดงอาการ ซึ่งปกติคนเหล่านี้จะได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัสโดยตรง ต่อเมื่อนอนโรงพยาบาลแล้ว แต่ถ้าเป็นยารับประทานชนิดเม็ด ก็จะสามารถเริ่มให้ยาได้ตั้งแต่มีผลตรวจเป็นบวก
นอกจากนั้นยังเป็นการชะลอการระบาดของไวรัสในคนที่ไม่มีอาการด้วย เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ไวรัสสามารถผ่านออกมาทางอุจจาระได้นานถึงสามสัปดาห์ สำหรับผู้ติดเชื้อ 59%
ในโลกเราขณะนี้ ยังมีอีกบริษัทคือ Merck ซึ่งได้ทดลองยาชื่อ Molnupiravir และคาดว่าจะมีโอกาสได้ใช้ในสิ้นปีนี้เช่นกัน

ถ้ายาทั้งสองชนิด ของบริษัท Merck และ Pfizer ประสบความสำเร็จ และได้นำออกมาใช้จริง จะทำให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นมาก เพราะจะร่วมกับวัคซีนในการควบคุมการระบาดครั้งนี้
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 30 กันยายน 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 11,646 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,526 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 120 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,574,612 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 107 ราย หายป่วย 10,887 ราย กำลังรักษา 116,075 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,443,247 ราย