เบื้องหลังให้"ผู้พิพากษาศาลฎีกา"พ้นตำแหน่งถูกกล่าวหารับเงินวิ่งเต้นคดี

28 ก.ย. 2564 | 11:29 น.

เปิดเบื้องหลังประกาศให้ “ผู้พิพากษาศาลฎีกา” พ้นจากตำแหน่ง เหตุถูกกล่าวหารับเงินวิ่งเต้นคดี แม้ก.ต.เสียงข้างมากจะเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน แต่มีมลทินมัวหมองแล้ว

กรณีเมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่ง โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ นายสราวุธ ศิริภาณุรักษ์ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกา เนื่องจากสำนักงานศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ นายสราวุธ ศิริภาณุรักษ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2564 เนื่องจากมีมลทินหรือมัวหมอง หากให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการนั้น

 

แหล่งข่าวจากสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า  นายสราวุธ ศิริภาณุรักษ์ ถูกกล่าวหาว่ารับเงินเพื่อไปวิ่งเต้นคดีที่ศาลฎีกา ซึ่งแม้ที่ประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เสียงข้างมาก จะเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจน แต่มีมลทินมัวหมอง จึงให้ออกตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฯ มาตรา 35

สำหรับ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการฯ มาตรา 35 ระบุว่า เมื่อประธานศาลฎีกาเห็นสมควรให้ข้าราชการตุลาการผู้ใดออกจากราชการ เพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทน เหตุทุพพลภาพ หรือเหตุรับราชการนานตามกฎหมายว่า ด้วยบําเหน็จบํานาญข้าราชการ ให้กระทําได้ด้วยความเห็นชอบของ ก.ต. การสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบําเหน็จบํานาญเหตุทดแทนนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34  แล้ว ให้กระทําได้เฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้

 

(1) เมื่อข้าราชการตุลาการนั้นถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดวินัยอย่างร้ายแรงและดําเนินการสอบสวนตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 2 ของหมวด 5 และไม่ได้ความเป็นสัตย์ว่ากระทําผิดที่จะต้องถูกสั่งลงโทษไล่ออก ปลดออก หรือให้ออก แต่เห็นว่าผู้นั้นมีมลทินหรือมัวหมองหากให้รับราชการต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ

 

(2) เมื่อข้าราชการตุลาการนั้นบกพร่องต่อหน้าที่หรือหย่อนความสามารถในอันที่จะปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือประพฤติตนไม่สมควรที่จะให้คงเป็นข้าราชการตุลาการต่อไป

(3) เมื่อข้าราชการตุลาการนั้นเจ็บป่วยไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ราชการได้โดยสม่ำเสมอ แต่ไม่ถึงเหตุทุพพลภาพ หรือ

 

(4) เมื่อปรากฏว่าข้าราชการตุลาการนั้นขาดสัญชาติไทย ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 26 (10) หรือไปดํารงตําแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลปกครอง กรรมการการเลือกตั้ง กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ