14 วิธีเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือน

27 ก.ย. 2564 | 04:00 น.

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังน่าเป็นห่วง มีการเเจ้งเตือนน้ำท่วมฉับพลันเเละน้ำป่าไหลหลาก นอกจากจะต้องติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดเเล้ว ยังต้องมีการเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือนด้วยเพื่อความปลอดภัยในชีวิเเละทรัพย์สิน

สถานการณ์น้ำท่วม หลายจังหวัดยังเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 26 – 30 กันยายน 2564 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงไปพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง

ทําให้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคกลาง และส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้น

เเละแน่นอนว่าภัยจากธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ก่อนเป็นสิ่งสำคัญ และเมื่อได้รับการแจ้งเตือนแล้ว "ฐานเศรษฐกิจ" มีคำแนะนำวิธีเตรียมรับมือมาฝากกัน

14 วิธีเตรียมตัวรับมือน้ำท่วม เมื่อมีการแจ้งเตือน

1. เตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว เน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ 

2. ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง ให้พ้นจากระดับน้ำท่วม

3. อพยพสัตว์เลี้ยงและเคลื่อนย้ายยานพาหนะไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย

4. ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตซ์ไฟ สับคัตเอาท์ ป้องกันกระแสไฟฟ้ารั่ว

5. ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและแก๊ส

6. เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เช่น นกหวีด เชือก ถุงพลาสติกสีดำ กระดาษชำระ มีด ที่เปิดกระป๋อง

7. เตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน โฉนดที่ดิน สุดบัญชีธนาคาร พร้อมจัดทำสำเนา จัดเก็บไว้ในถุงพลาสติกกันน้ำ 

8. สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด อย่างน้อย 3 วัน

9. เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นไว้ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่

10. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย

11. จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ

12. จดเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินเร่งด่วน เช่น เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 เบอร์สายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784

13. หากระดับน้ำท่วมสูงไม่สามารถอาศัยภายในบ้านได้ ให้ล็อคประตูบ้านและอพยพขึ้นที่สูง ถ้าไม่มีที่ปลอดภัยบนที่สูง ให้ฟังข้อมูลจากวิทยุหรือโทรทัศน์เกี่ยวกับสถานที่หลบภัยของหน่วยงานต่างๆ

14. หากบ้านพักอาศัยไม่ได้อยู่ในที่น้ำท่วมถึง แต่อาจมีน้ำท่วมในห้องใต้ดิน

- ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในห้องใต้ดิน

- ปิดแก๊ส

- เคลื่อนย้ายสิ่งของมีค่าขึ้นข้างบน

- ห้ามอยู่ในห้องใต้ดิน 

วางแผนรับมือน้ำท่วมหลังได้รับการเตือนภัยน้ำท่วม

1.ติดตามสัญญาณเตือนภัยฉุกเฉิน จากสถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ที่เกาะติดรายงานสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะรายงานข่าวที่เกาะติดในพื้นที่จากเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น website หน่วยงานที่ดูแล 

กรมอุตุนิยมวิทยา www.tmd.go.th

กรมชลประทาน www1.rid.go.th/main/index.php/th  กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย www.disaster.go.th

2.สังเกตระดับน้ำและความผิดปกติ จากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้ๆ เช่น แม่น้ำ คลอง

3.เตรียมสถานที่นัดหมายสำหรับสมาชิกในครอบครัวสามารถพบกัน 

4.หากมีการเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน และหากอยู่ในพื้นที่หุบเขาให้ปฎิบัติดังนี้

    • ปีนขึ้นที่สูงให้เร็วสุดเท่าที่จะทำได้

    • ไม่นำสัมภาระติดตัวไปมากเกินไป  

    • ไม่วิ่งหรือขับรถผ่านบริเวณน้ำหลาก

ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย