อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.41 บาท/ดอลลาร์

27 ก.ย. 2564 | 00:46 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์ไทย กอปรกับ ตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่จะปัญหาหนี้ของ Evergrande

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.41 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 33.24 บาทต่อดอลลาร์ (ณ วันพฤหัสฯ ที่ 23 กันยายน)

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เฟดเริ่มส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ใน Dot Plot ล่าสุด

 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นประเด็นการเมืองทั้งในฝั่งสหรัฐฯ (Debt Ceiling) รวมถึงการเลือกตั้งในเยอรมนีและญี่ปุ่น ส่วนในฝั่งไทย ไฮไลท์สำคัญ คือ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันพุธ

 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

 

ฝั่งสหรัฐฯ – ตลาดคงมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง หนุนโดยการบริโภคภาคเอกชน ตามสถานการณ์การระบาดที่ไม่ได้น่ากังวลนัก สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดย Conference Board ในเดือนกันยายน ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 115 จุด นอกจากนี้ ภาคการผลิตโดยรวมยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนกันยายน จะอยู่ที่ระดับ 59.5 (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

 

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการแถลงต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภาของประธานเฟด รวมถึงรัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ โดยไฮไลท์สำคัญ อาจอยู่ที่ถ้อยแถลงของรัฐมนตรีคลัง Yellen ต่อประเด็นขยาย Debt Ceiling เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ นอกเหนือจากประเด็นดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Evans, Williams, Brainard (วันจันทร์) Bowman, Bostic, Bullard (วันพุธ) เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ รวมถึงทิศทางนโยบายการเงิน อาทิ การลดคิวอีในปีนี้ และโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า 

 

ฝั่งยุโรป – ตลาดจะรอลุ้นผลการเลือกตั้งเยอรมนี ซึ่งอาจสร้างความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ในระยะสั้น เนื่องจากผลโพลล่าสุด พรรค CDU/CSU ของอดีตผู้นำเยอรมนี Angela Merkel นั้นมีคะแนนนิยมเป็นอันดับสองห่างจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน SPD ราว 3% ขณะที่พรรค Green ที่ชูนโยบายรักษ์โลกก็มีคะแนนนิยมมากขึ้นเป็นอันดับ 3 ทำให้มีโอกาสที่ พรรค SPD จะจับมือกับพรรคอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ และจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญของเยอรมนี

 

ดังนั้นจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะมีความชัดเจน เรามองว่า ตลาดการเงินยุโรปอาจมีความผันผวนได้บ้างในระยะสั้น ทั้งนี้ ต้องจับตางานประชุมบรรดาธนาคารกลางที่จัดโดยธนาคารกลางยุโรป (ECB Forum) ซึ่งตลาดจะจับตาแนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของ ECB หลัง ECB เริ่มส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านโครงการ PEPP ซึ่งหากถ้อยแถลงของประธาน ECB รวมถึงบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ออกมาสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาจกดดันให้ ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรป รวมถึงเงินยูโร (EUR) ปรับตัวขึ้นได้บ้าง

 

ฝั่งเอเชีย – เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังการระบาดระลอกล่าสุดได้คลี่คลายลงพร้อมกับการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด หนุนให้กิจกรรมในภาคการผลิตและการบริการกลับมาขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นสะท้อนผ่านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนกันยายนที่จะขยับขึ้นสู่ระดับ 50.2 จุด และ 50.8 จุด ตามลำดับ (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึง ภาวะขยายตัว)

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดจะจับตาการเลือกตั้งผู้นำพรรค LDP ซึ่งคาดว่าจะเป็นนายกฯ คนถัดไป หากพรรค LDP ยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภาได้ โดยผลโพลล่าสุดระบุว่า นาย Taro Kono มีโอกาสที่จะขึ้นเป็นผู้นำพรรค LDP และว่าที่นายกฯ คนถัดไป ซึ่งตลาดมองว่าหลังการเลือกผู้นำพรรคเสร็จสิ้น รัฐบาลญี่ปุ่นอาจมีการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมซึ่งส่วนหนึ่งจะช่วยเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งช่วงไตรมาสที่ 4 อนึ่ง แนวโน้มเศรษฐกิจที่สดใสจะสะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจญี่ปุ่น (Tankan Survey) ที่ภาคธุรกิจต่างมีมุมมองในอนาคตที่ดีขึ้น

 

ฝั่งไทย – เรามองว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะถึงนี้ กนง. จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% หลังการระบาดเริ่มคลี่คลายลง ส่วนการแจกจ่ายวัคซีนก็สามารถเร่งตัวขึ้นได้มากและรัฐบาลได้เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติม หลังขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70%GDP 

 

ทั้งนี้ภาพเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้น อาจสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ (Business Sentiment) เดือนกันยายน ที่อาจปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 40.5 จุด อนึ่ง ปัญหาการระบาดในช่วงที่ผ่านมาที่กดดันภาคการผลิต รวมถึงปัญหาด้าน Supply-chain อาจยังคงกดดันให้ กิจกรรมในภาคการผลิตยังคงหดตัว สะท้อนผ่าน PMI ภาคการผลิตเดือนกันยายน ที่ระดับ 48 จุด

 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราคาดว่าในระยะสั้น เงินบาทยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าจากแรงขายสินทรัพย์ไทย กอปรกับ ตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่จะปัญหาหนี้ของ Evergrande อย่างไรก็ดี หาก กนง. เริ่มคลายกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและข้อมูลเศรษฐกิจไทยเริ่มทยอยออกมาดีขึ้น เราเชื่อว่า ภาพดังกล่าวอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้ ทั้งนี้ ควรระวัง ความผันผวนด้านอ่อนค่าจากแรงซื้อเงินดอลลาร์ของฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้นำเข้ามักจะเข้ามาทยอยแลกซื้อเงินดอลลาร์

 

ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) มีแนวโน้มแกว่งตัวใกล้แนวต้านแถว 93 จุด เนื่องจากเงินดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนปัจจัยเสี่ยงที่คงอยู่ในตลาด อาทิ ปัญหาการเจรจาขยาย Debt Ceiling, ความวุ่นวายการเมืองเยอรมนี และปัญหาหนี้ Evergrande แต่เรามองว่า เงินดอลลาร์ก็สามารถจะกลับมาอ่อนค่าลงได้และอาจเป็นการจบรอบการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ในระยะสั้น หากตลาดกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพราะปัจจัยต่างๆ อาทิ แนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด อย่าง การลดคิวอี ตลาดก็มีการรับรู้ไปมากแล้ว

 

ทั้งนี้ หลังจากที่เงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ ในสัปดาห์ที่ผ่าน ทำให้กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทจะขยับอ่อนค่าลงจากช่วงก่อนหน้า โดย เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถอ่อนค่ากลับไปที่ระดับดังกล่าวได้

 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.20-33.60 บาท/ดอลลาร์

 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.25-33.40 บาท/ดอลลาร์

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้านี้ (27 ก.ย.) เงินบาทปรับตัวในกรอบประมาณ 33.32-33.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดสัปดาห์ก่อนที่ 33.25 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ และการแสดงความคิดเห็นเชิงสนับสนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟด 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่  สัญญาณฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดของไทย ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนส.ค. ของสหรัฐฯ ข้อมูลกำไรภาคอุตสาหกรรมเดือนส.ค. และสถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน