กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน

20 ก.ย. 2564 | 11:03 น.

กรมชลประทานเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการพัฒนา 2 ลุ่มน้ำ"น้ำห้วยหลวงตอนบน ตอนกลาง และลุ่มน้ำห้วยโมง"  ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัดอีสานตอนบน  ชี้จะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัย แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่อย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพสูงสุด  สอดคล้องกับแผนแม่บทน้ำแห่งชาติ 20 ปี 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน  พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หนองคาย  เพื่อติดตามการขับเคลื่อนโครงการศึกษาความเหมาะสม การพัฒนาแหล่งน้ำลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง จังหวัดอุดรธานี  และพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยโมง จังหวัดหนองคาย   
      

โดยในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี คณะของนายเฉลิมเกียรติฯ พร้อมกับ นายเฉลิมชัย  ม่วงไหมแพร ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี และหน่วยงานในพื้นที่ ที่เกี่ยวข้อง เดินทางไปดูประตูระบายน้ำ(ปตร.)สามพร้าว ต.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี  

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน ลงติอดตามการพัฒนา2ลุ่มน้ำอีสานตอนบน

ซึ่งเป็นจุดที่แบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงออกเป็น 2 ส่วน คือ ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างและลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง โดยมีพื้นที่ตั้งแต่ ปตร.สามพร้าวขึ้นไปยังพื้นที่ต้นน้ำ ในเขตพื้นที่อำเภอหนองวัวซอ จ.อุดรธานี เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยตอน-ตอนกลาง  เพื่อรับฟังบรรยายสรุปถึงสภาพทั่วไปของพื้นที่โครงการฯ  
    

ส่วนพื้นที่จังหวัดหนองคาย คณะได้เดินทางไปลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยทอนบน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของลุ่มน้ำห้วยโมง ที่มีพื้นที่ครอบคลุม 4 จังหวัดคือ จังหวัดเลย  หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี  เพื่อติดตามความก้าวหน้าของโครงการฯ และรับฟังการบรรยายสรุปความต่อเนื่อง ของโครงการศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาแหล่งน้ำห้วยโมง 
               

นายเฉลิมเกียรติฯ เปิดเผยถึงการเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ว่า กรมชลประทานได้เล็งเห็นถึงปัญหา และมีการวางแผนแก้ไขบรรเทาปัญหาอย่างเป็นระบบ  โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2558  จาก ปตร.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานี ถึงปากน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย และขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการโครงการฯ ตามที่ได้รับงบประมาณประจำปีมาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน

กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน
อีกทั้งจากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) สังคม กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เมื่อปี พ.ศ.2561 นายกรัฐมนตรีมีข้อสั่งการ ให้ศึกษาความเหมาะสมการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง

โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ไปเร่งรัดดำเนินการในส่วนของโครงการขนาดใหญ่และขนาดกลาง ที่มีความสำคัญเร่งด่วน ซึ่งมุ่งเน้นในการบรรเทาปัญหาอุทกภัย ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การพัฒนาลุ่มน้ำและพื้นที่ชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพ 
                   

โดยจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสม 5 โครงการ ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอกุดจับ และอำเภอหนองวัวซอ ประกอบด้วย โครงการอาคารบังคับน้ำบ้านโนนสว่างฯ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านขอนยูงน้อย อ.กุดจับ โครงการอาคารบังคับน้ำห้วยเชียง 2  โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยยางล่างฯ และโครงการบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำบ้านสามพร้าว 
    

ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ข้างต้น จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก 29,286 ไร่ ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน

ส่วนการลงพื้นที่ของลุ่มน้ำห้วยโมง เป็นการติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสม ที่ได้มีการดำเนินอยู่แล้วโดยบริษัทที่ปรึกษา จำนวน 3 โครงการเร่งด่วนและมีความสำคัญ คือ โครงการเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทอน (ตอนบน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านบางกอกน้อย ตำบลด่านศรีสุข อำเภอโพธิ์ตาก จังหวัดหนองคาย โครงการปรับปรุงลำน้ำห้วยโมง พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลอง 2 แห่ง และโครงการผันน้ำห้วยลาน-ห้วยคุก  ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลทำให้ประชาชนในพื้นที่มีแหล่งกักเก็บน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกเพียงพอตลอดทั้งปี ลดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง รวมทั้งมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย 
             

สำหรับลุ่มน้ำห้วยโมง มีพื้นที่รับน้ำฝน 2,718 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ 19 ตำบล 12 อำเภอ 4 จังหวัด คือจังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย ต้นน้ำเกิดที่ อ.นาด้วง จ.เลย , อ.นาวัง อ.นากลาง อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู และไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย มีฝนตกเฉลี่ย 1,379 มม.ต่อปี มีปริมาณน้ำท่า 986 ล้าน ลบม.ต่อปี ซึ่งบริเวณปากน้ำห้วยโมง มีประตูควบคุมน้ำและเครื่องสูบเครื่องสูบน้ำเข้า-ออก อัตรา 12 ลบม.ต่อวินาที แต่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งได้ 
           

นายเฉลิมชัย  ม่วงไหมแพร   ผู้อำนวยการโครงการชลประทานอุดรธานี เปิดเผยเพิ่มเติมรายละเอียดสภาพพื้นที่ของลุ่มนำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานีว่า สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงมีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย  แบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน โดยมี ปตร.สามพร้าว อ.เมืองอุดรธานีเป็นจุดแบ่งพื้นที่ โดยพื้นที่จากเหนือ  ปตร.สามพร้าวจนถึงพื้นที่ต้นน้ำห้วยหลวงในเขตของ ต.ดงหมากไฟ อ.หนองวัวซอ  รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีความจุปริมาณน้ำได้จำนวน 135.57 ล้าน ลบ.ม. เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนบน-ตอนกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ในโครงการศึกษาความเหมาะสม ของกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาที่ทางกรมชลประทานว่าจ้าง และมีการดำเนินการศึกษาฯไปได้ประมาณ 90% และจะสิ้นสุดสัญญาในเดือนธันวาคม 2564 นี้  
  กรมชลฯเดินหน้าต่อพัฒนา2ลุ่มน้ำแก้"ท่วม-แล้ง"4จังหวัดอีสานตอนบน        

ส่วนที่ 2 คือพื้นที่ลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง มีพื้นที่จาก  ปตร.สามพร้าวผ่านพื้นที่ อ.เพ็ญ  อ.บ้านดุง  อ.สร่งคอม ไปจนถึงปากน้ำห้วยหลวงในพื้นที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย  ซึ่งกำลังมีการดำเนินการตามแผนโครงการงบประมาณที่ได้รับอนุมัติ อาทิเช่น  การก่อสร้างประตูน้ำขนาดใหญ่แดนเมือง อ.โพนพิสัย  เพื่อทำหน้าที่ระบายน้ำออกจากพื้นที่ลงสู่แม่น้ำโขง และสูบน้ำจากแม่น้ำโขงเข้าสู่พื้นที่  ประตูบังคับน้ำ พนังกั้นน้ำ สถานีกระจายน้ำ หรือสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำน้ำห้วยหลวง ซึ่งเมื่อการพัฒนาเสร็จสิ้นตามโครงการจะทำให้การบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำห้วยหลวงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สามารถจะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม-น้ำแล้งของพื้นที่การเกษตรกรรมของ 2 จังหวัดได้อย่างยั่งยืนมั่นคงให้กับประชาชนได้อย่างถาวร 
           

สำหรับปัญหาของลุ่มน้ำห้วยหลวง เนื่องจากพื้นที่เป็นที่ลุ่มในฤดูฝนไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วม จึงหันไปทำในฤดูแล้งยกเว้นการทำนา  ดังนั้น หากการพัฒนาพื้นที่เสร็จเรียบร้อยตามแผน  ก็สามารถบริหารจัดการปริมาณน้ำในพื้นที่ที่มีประมาณ 3 แสนไร่ได้  อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องของวัชพืชตามธรรมชาติ ความตื้นเขินของลำน้ำห้วยหลวง รวมถึงอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ซึ่งใช้งานมาประมาณ 40 ปี และอยู่ในพื้นที่ของโครงการศึกษาความเหมาะสมในคราวนี้ด้วย ก็มีปัญหาตื้นเขินจำเป็นจะต้องมีการขุดลอก ให้สามารถรองรับปริมาณน้ำได้มากขึ้น และปัญหาอีกปัญหาหนึ่ง คือการบริหารจัดการน้ำในลำน้ำห้วยหลวงและอื่น ๆ ยังเป็นการบริหารแบบร่วมกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ยังไม่ได้มีการถ่ายโอนภารกิจให้กรมชลประทาน ซึ่งในอนาคตจะแผนการถ่ายโอนภารกิจให้กับกรมชลประทานแล้ว 
               

ซึ่งหากดำเนินการตามแผนงานที่วางไว้ข้างต้นเสร็จเรียบร้อย จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ รวมทั้งช่วยให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด มีความยั่งยืน ตอบสนองต่อแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ของ สนทช. ทั้งในปัจจุบันและอนาคต อันจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  และยิ่งหากว่ามีการถ่ายโอนภารกิจให้กับกรมชลประทานได้ในอนาคต จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการปัญหาเรื่องของน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแต่ละพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น  โดยยกตัวอย่างของลุ่มน้ำห้วยหลวงในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำฝนประมาณปีละ 1,000ล้าน ลบม. แต่สามารถบริหารจัดการน้ำได้เพียงประมาณ 400 ล้าน ลบม.เท่านั้น  นายเฉลิมชัยฯกล่าว