ฝนตกแต่น้ำไม่ลงอ่าง"อุดรฯ"เตรียมรับมือ"ภัยแล้ง"

12 ก.ย. 2564 | 10:58 น.

อุดรธานีให้เตรียมรับภัยแล้ง น้ำต้นทุนในอ่างมีแค่ 52% น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แม้มีฝนตกแต่ไม่ไหลเข้าอ่าง แจ้งเกษตรกรงดนาปรัง เปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย ประสานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตรียมรับมือเพื่อช่วยเหลือราษฎร

นายธีระภัทร์ ผิวสวัสดิ์  หัวหน้าสำนักงานปัองกันและบรรเทาสาธารณภัยขังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำของจังหวัดอุดรธานีในภาพรวมน่าเป็นห่วง เนื่องจากในขณะนี้มีในอ่างเก็บน้ำทั้งเล็ก ใหญ่ 19 แห่ง มีเพียง 52%  เท่านั้น  

ทางจังหวัดได้ประสานงานสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานป้องกันสาธารณภัยจังหวัด  เตรียมการณ์รับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น และสร้างความเดือดร้อน ส่งผลกระทบโดยภาพรวมของจังหวัด

ปริมาณน้ำกักเก็บในอ่างเหนือเขื่อนพื้นที่อีสานตอนบนยังมีปริมาณต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่่แล้ว  

พร้อมกับให้ทำการประสานความร่วมมือไปยัง สนง.ปภ.เขต14 และ สนงปภ.เขตสกลนคร และ สนง.ปภ.เขต.ขอนแก่น หากว่ามีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นให้สามารถเข้ามาช่วยเหลือได้ 
    

ทั้งนี้ อุดรธานีมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางจำนวน 19 แห่ง ขนาดใหญ่ 2 แห่งคือ อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง อ.เมืองอุดรธานี และฝายเก็บน้ำกุมภวาปี หรืออ่างเก็บน้ำหนองหาน อ.กุมภวาปี และขนาดกลางจำนวน 17 แห่งที่กระจายอยู่ในพื้นที่หลายอำเภอ  

มีปริมาณการเก็บกักน้ำทั้งหมดได้จำนวน 338.99  ล้าน ลบ.ม. แต่ในปัจจุบันมีน้ำสะสมอยู่ทั้งสิ้นจำนวน 178.87 ล้าน ลบ.ม. หรือ 52.77%  น้อยกว่าในปี 2563 มีน้ำสะสมอยู่ 198.66 ล้าน ลบ.ม.  

อุดรธานีแจ้งเกษตรกรเตรียมรับภัยแล้ง ให้งดทำนาปรังหันไปปลูกพืชใช้น้ำน้อย

ฝนตกแต่น้ำไม่ลงอ่าง"อุดรฯ"เตรียมรับมือ"ภัยแล้ง"
ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ น่าจะเกิดภาวะภัยแล้งได้ โดยเฉพาะการทำการเกษตร ที่เป็นอาชีพหลักของชาวจังหวัดอุดรธานี มีพืชหลักได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา  พืชอายุสั้น   ในประเด็นนี้ทางจังหวัดเป็นห่วง เนื่องจากสถานการณ์ทางธรรมชาติมีความผันแปรไปจากเดิมมาก  แม้ว่าในช่วงนี้มีฝนตกในพื้นที่อุดรธานี แต่ก็เป็นการตกแบบกระจายในบางพื้นที่ ปริมาณฝนที่ตกไม่ได้ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมากนัก หรือที่เรียกว่าตกไม่เพียงพอให้น้ำจะไหลลงสู่แหล่งเก็บน้ำ

จากสถานการณ์ดังกล่าวจังหวัดอุดรธานี จึงขอเตือนประชาชนขอให้มีการติดตามประกาศข่าวทางราชการที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ขอให้ช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด 
           

ในส่วนของการเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดภาสวะขึ้นในฤดูแล้งนั้น ทางจังหวัดได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเตรียมความพร้อม จัดการทำการสำรวจแหล่งน้ำ ภาชนะเก็บกักน้ำทุกแหล่งในพื้นที่ เครื่องมืออุปกรณ์ในการช่วยเหลือต่าง ๆ ให้อยู่ในสภาพพร้อมการใช้งาน เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบน้ำระยะไกล  

ทำการประสานงานกับ ปภ.เขต 14 ที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่ภาคอีสานตอนบน รวมถึง จ.อุดรธานีด้วย   นอกจากนี้ก็ให้ประสานงานกับ สนง.ปภ.เขต สกลนคร ปภ.เขตขอนแก่น ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเหมือนกับในปีที่แล้ว ที่สามารถเข้าให้การช่วยเหลือได้อย่างทันการ 

ฝนตกแต่น้ำไม่ลงอ่าง"อุดรฯ"เตรียมรับมือ"ภัยแล้ง"

 นายวิชัย  จาตุรงค์กร  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง สำนักงานชลประทานที่ 5 อุดรธานี
นายวิชัย  จาตุรงค์กร  ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาห้วยหลวง สำนักงานชลประทานที่ 5 อุดรธานี  เปิดเผยว่า  ขณะนี้น้ำในอ่างห้วยหลวง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และสำคัญที่สุดของอุดรธานี เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำเพื่อทำน้ำประปาให้กับเขตเมืองอุดรธานีและใกล้เคียง ซึ่งมีความจุรวม 135.57 ล้าน ลบ.ม. เวลานี้มีน้ำจุอยู่จำนวน 48.70 ล้าน ลบ.ม.หรือ 35.92 % ของความจุอ่าง เพียงพอสำหรับการส่งให้ประปาส่วนภูมิภาคอุดรธานีทำน้ำประปา เพื่อการอุปโภค-บริโภค  
    

อย่างไรก็ตามเป็นห่วงพื้นที่ในเขตชลประทาน ขอให้งดการทำนาปรัง พืชผักที่ต้องใช้น้ำมาก ให้เพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย หรือพืชอายุสั้น เช่น ถั่ว  มีการติดตามสถานการณ์จากการคาดหมายของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงปลายเดือนกันยายน ต่อตุลาคมนี้ จะมีฝนตกเพิ่มขึ้น แต่ก็เกรงว่าจะไม่ตกในพื้นที่อีสานตอนบน โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดอุดรธานี หรือตกก็ไม่ตกเหนืออ่าง จะไม่มีน้ำไหลลงอ่างเพิ่มเติมปริมาณน้ำ

จึงเป็นห่วงกับการทำการเกษตรกรรม ขอให้ประชาชนประหยัดการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ และให้ติดตามประกาศและข่าวของทางราชการอย่างใกล้ชิด  หรือสามารถทำการสอบภามได้ทางโทรศัพท์ได้ที่ฝ่ายจัดสรรน้ำฯอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง หมายเลข 097-3128143