จำนำทะเบียนรถ ปรอทแตก นอนแบงก์ไล่บี้ยึดตลาด

18 ก.ย. 2564 | 02:54 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ก.ย. 2564 | 12:37 น.

ตลาดจำนำทะเบียนรถร้อนฉ่า 3 ปีโตพุ่ง 63% เผย 7 เดือนปีนี้เพิ่มขึ้น 20% ชิงเค้ก 1.65 แสนล้านบาท นอนแบงก์รั้งพอร์ตใหญ่1.33 แสนล้านบาทโต 28.55% ฟากธนาคารชะลอตัว 6.90% เหตุเฟ้นลูกค้าดี หลายค่ายเริ่มปรับดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม

ประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ เรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆในการทวงถามหนี้ตามพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้พ.ศ. 2558 ที่มีีผลในทางปฎิบัติไปเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2564 โดยกำหนดอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้งวดแรกที่ 50 บาท กรณีค้างชำระ 2 งวดขึ้นไปคิด 100 บาทต่องวด ห้ามติดตามทวงถามหนี้ที่ค้างชำระที่ต่ำกว่า 1,000 บาทและค่าลงพื้นที่ 400 บาท

 

แห่ปรับค่าต๋งใหม่

เมื่อวันที่ 12 กันยายนจึงเริ่มเห็นผู้ประกอบการหลายรายปรับอัตราค่าบริการและอัตราดอกเบี้ย เช่น บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล คิดค่าติดตามทวงถาม 49-99 บาทต่องวด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 24% เงินติดล้อ คิดค่าติดตามทวงถาม 50-100 บาทต่องวด โดยสินเชื่อทะเบียนรถบรรทุกคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 19% รถเก๋งกระบะคิด 21% มอเตอร์ไซด์คิด 24%

 

ขณะที่มิตรสินด่วน คิดค่าติดตาม 100-3,000 บาทต่องวด ดอกเบี้ยผิดนัดคิด 24%, สตาร์มันนี่ คิดค่าทวงถาม 30-100 บาทต่องวด ดอกเบี้ยค้างชำระคิด 24% อัมพวาธุรกิจลิสซิ่ง คิดค่าติดตามทวงถาม 500-3,000 บาทต่องวด ดอกเบี้ยผิดนัดชำระ 24% และค่ายใจกว้างไม่คิดค่าติดตามทวงถามหนี้ แต่คิดดอกเบี้ยผิดนัด 22%

สินเชื่อบุคคล

นอกจากนั้น ยังมีบางรายเสนออัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) โดยค่ายทิสโก้ ภายใต้แบนด์ “สมหวัง” เสนอดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.49% ต่อเดือน เท่ากับ Effective Rate 10.76% ต่อปี วงเงินกู้ 100,000 บาทผ่อนชำระ 48 เดือนเฉลี่ย 2,573 บาทต่อเดือน

 

ค่ายซิงเกอร์ “รถทำเงิน” คิดดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.5% ต่อเดือน สูงสุด 1.50% ต่อเดือน เลือกผ่อนได้ 6-60 เดือน เงินเทอร์โบ ดอกเบี้ยเริ่มต้นที่ 0.68% ต่อเดือน ค่ายศักดิ์สยาม ดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.69% ต่อเดือน วงเงินสูงถึง 350,000 บาท เคทีซีเสนอดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.98% ต่อเดือนเท่ากับ 21% ต่อปี

 

 

 ทั้งนี้ มีข้อสังเกตบางค่ายเสนออัตราดอกเบี้ยสูงแต่ไม่มีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม ดังนั้นต้องพิจารณาการเสนอดอกเบี้ยต่ำว่ามีดอกจันทน์หรือไม่ (*)

 

นอนแบงก์โตพุ่ง 90.15%

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) รายงานตัวเลขสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ เดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวน 6.64 แสนล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นสินเชื่อของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ถึง 1.37 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 29,718 ล้านบาท หรือ 28.55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

หากเทียบจากช่วงก่อนเกิดโควิด -19 เพิ่มขึ้นถึง 63,431 ล้านบาทหรือ 90.15% ขณะที่ธนาคารพาณิชย์หดตัว 2,317 ล้านบาทหรือ -6.90% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และโตเพียง 1.78% ก่อนโควิด

 

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลีสซิ่ง(SAK)เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยที่สนับสนุนตลาดจำนำทะเบียนรถเติบโตมาจาก 3 เหตุผลคือ 1.ธปท.เริ่มนำสินเชื่อจำนำทะเบียนเข้ามาอยู่ภายใต้กำกับ 2.ผู้ประกอบการรายเดิมพยายามจะเข้าไปแทนสินเชื่อนอกระบบ โดยเห็นได้จากหลายค่ายขยายสาขารองรับลูกค้าเพิ่ม และ 3.ลูกค้าสินเชื่อเช่าซื้อบาง ส่วนที่ร้อนเงิน หรือต้องการวงเงินหมุนเวียนได้รีไฟแนนซ์เป็นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ

นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บมจ.ศักดิ์สยามลีสซิ่ง

สำหรับภาพรวมปีนี้ ความต้องการสินเชื่อในระบบน่าจะเติบโตกว่า 20% โดยมีผู้ประกอบการทั้งบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และบริษัทที่อยู่ภายใต้กำกับของธปท. ซึ่งมีเงื่อนไข ทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท นอกจากนี้บางส่วนยังมีการใช้ใบอนุญาตของสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ที่กำกับโดยกระทรวงการคลัง

 “ปีนี้การแข่งขันสูงด้วยเหตุว่า ผู้ประกอบการรายเดิมเร่งขยายสาขาหรือ ผู้ประกอบการใหม่ที่เข้ามาสู่ตลาด รวมทั้งผู้ประกอบการที่เตรียมตัวจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ส่วนรูปแบบการเข่งขันจะใช้กลยุทธ์คล้ายๆ กันคือ ขยายสาขา เพื่อให้เข้าไปถึงลูกค้าได้มากที่สุด” นายศิวพงศ์กล่าว

 

ส่วนอัตราดอกเบี้ยก็มีผู้ประกอบการบางรายใช้กลยุทธ์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงแม้ธปท.จะกำหนดเพดานไว้ แต่การแข่งขันที่สูง ทำให้ในทางปฏิบัติจริง ยังคิดไม่เต็มเพดาน และบางค่ายต้องเลือกลูกค้าบางกลุ่มบางประเภทรถ แล้วแต่นโยบาย

 

หนีหนี้นอกระบบ

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัดในฐานะอุปนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) กล่าวว่า ความต้องการสินเชื่อของลูกค้า ถือเป็นปัจจัยบวกของตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยเฉพาะลูกค้าบางส่วนไม่อยากกู้หนี้นอกระบบ ทำให้การแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างสูงเรียกว่าแข่งขันทุกด้าน เพราะต้องการคัดเลือกคุณภาพลูกค้า ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยหรือบริการที่รวดเร็ว

นายสุธัช เรืองสุทธิภาพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเทอร์โบ จำกัด

 อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า แม้จะคัดเลือกลูกค้าที่มีประวัติที่ดีปัจจุบันสัญญาณหนี้เสียก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการให้ความช่วยเหลือด้วยการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ก็ตาม ส่วนหนึ่งมาจากลูกค้าขาดรายได้หรือรายได้ปรับลดลง คาดว่าหากสถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น ทางการกลับมาเปิดประเทศและถ้าเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจน่าจะทำให้ลูกหนี้มีรายได้

 

“ช่วงนี้ลูกค้ามีปัญหาเรื่องรายได้ก็มีบางส่วนต้องการคืนรถ แต่ส่วนใหญ่เราเน้นเจรจาไกล่เกลี่ยและปรับโครงสร้างหนี้ เพราะลูกค้าเองก็ต้องการใช้รถอยู่ทำให้เอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นยังควบคุมได้ ส่วนความต้องการสินเชื่อยังคงมีต่อเนื่องเช่นกัน” นายสุธัชกล่าว

 

สำหรับการแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยนั้น ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคิดดอกเบี้ยถูกกว่าหนี้นอกระบบ 5-10 เท่า เพราะขั้นต่ำคิดดอกเบี้ย 10% ต่อเดือนขึ้นไป ทำให้คนไม่อยากกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งในตลาดถ้าเป็นลูกค้าที่มีประวัติทางการเงินดีแข่งขันอัตราดอกเบี้ยต่ำเบื้องต้น 0.39% ต่อเดือน หรือ Effective Rate อยู่ที่ 7-8% ต่อปี

 

ส่วนของลูกค้าที่ไม่สามารถตรวจสอบประวัติทางการเงิน ส่วนใหญ่จะคิดดอกเบี้ยสูงกว่าลูกค้าเกรดดีๆ ซึ่งแบ่งเป็นหลายเกรดหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มที่มีความเสี่ยงแม้จะคิดดอกเบี้ยแพงกว่า 20% ก็เหนื่อย เอาจริงๆ ไม่มีใครอยากปล่อย เพราะถ้าปล่อยสินเชื่อไปแล้วกลายเป็นหนี้เสียผู้ประกอบการก็ต้องแบกรับต้นทุนในการติดตามทวงถามหนี้

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,715 วันที่ 19 - 22 กันยายน พ.ศ. 2564