‘ต่างชาติ’ ขนเงินเข้าตราสารหนี้ระยะสั้น

17 ก.ย. 2564 | 03:57 น.

เตือนเก็งกำไรบาท หลังเห็นสัญญาณต่างชาติ แห่ลงทุนบอนด์ระยะสั้น ฉวยจังหวะเก็งกำไรค่าเงิน หลังรัฐบาลส่งสัญญาณคลายล็อกดาวน์ จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลง “ยูโอบี-กรุงไทย” คาดสิ้นปี บาทอ่อนแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าไปแล้ว 8.9% (เทียบจาก 29.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สิ้นปีก่อนกับ 32.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ 14 กันยายน 2564) ซึ่งตลาดยังมองทิศทางบาท มีโอกาสอ่อนค่าอีกในช่วงที่เหลือของปี 

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ  ยอดคงค้างพันธบัตรไทยในมือของนักลงทุนต่างชาติเพิ่มขึ้น 117,362 ล้านบาท จากช่วงสิ้นปีก่อนที่ 8.57 แสนล้านบาทมาอยู่ที่  9.75 แสนล้านบาท ณ 13 กันยายน  2564 และหากเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองพันธบัตรไทย 8.5 แสนล้านบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในหุ้น 79,418 ล้านบาท จากปีก่อนขายสุทธิ 264,386 ล้านบาท

 

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคาร ยูโอบีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ช่วง 9 เดือนปีนี้ หากมองในแง่ความมั่งคั่งของคนไทยที่ถือเงินบาทลดลงแล้ว 8.9% ถือว่าแย่ที่สุด เมื่อกับสกุลเงินในเอเชีย หรือในมุมมองต่อผู้ประกอบการหรือประกอบธุรกิจ ถ้าปล่อยให้ค่าเงินบาทผันผวนขนาดนี้ ก็โดนค่าเงินกินหมด

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ธนาคาร ยูโอบี

โดยเฉพาะผู้นำเข้าที่ต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น  บวกราคาอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่านค่าและราคาน้ำมันปรับเพิ่ม รวมทั้งสินค้าต้นทุน ค่าขนส่ง ทุกอย่างแพงหมดโดยไม่รู้จะขายสินค้าออกหรือไม่ เพราะเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวและกำลังซื้อในประเทศแย่ลง  ขณะที่ปัจจุบันยังไม่เห็นปัจจัยบวก เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจ  ตลาด และดอกเบี้ยไม่อยู่ในระดับสูงจนเป็นที่น่าสนใจ

 

ขณะที่ปัจจุบันยังไม่เห็นปัจจัยบวก ไม่ว่าเศรษฐกิจ ตลาดและดอกเบี้ยไม่อยู่ในระดับสูงจนเป็นที่น่าสนใจ แต่พบว่า นักลงทุนเข้ามาซื้อพันธบัตรไทยในช่วงที่เงินบาทอ่อนค่าที่สุดในเอเชีย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยนไทย จากการเข้าซื้อบอนด์ระยะสั้น อายุต่ำกว่า 1 ปี

 

“เงินบาทจะมีแรงเก็งกำไรมาก เพราะเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในปีนี้ ส่วนโฟลว์ที่เข้ามาอาจอยู่กับเราไม่นาน เพราะดอกเบี้ยและยีลด์เราต่ำติดอันดับต้นๆ ของเอเชียเช่นกัน เงินบาทระยะสั้น จึงมองว่า ยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้อีกคาดว่า สิ้นปีเห็น 33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ” นายจิตติพลกล่าว

 

สอดคล้องกับนายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า ช่วงเดือนมิถุนายนถึง 23 สิงหาคม เงินบาทอ่อนค่าราว 6.5% จากดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่ามากประมาณ 4% บางช่วง จึงเห็นนักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น 23,000 ล้านบาท แต่เข้าซื้อบอนด์ประมาณ 59,000 ล้านบาท ทำให้สุทธิยังเห็นโฟลว์ขาเข้า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย

หลังจากช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม รัฐบาลส่งสัญญาณจะผ่อนคลายล็อกดาวน์ นักลงทุนเข้ามาซื้อบอนด์ 31,800 ล้านบาท และซื้อหุ้น 16,600 ล้านบาท สะท้อนเก็งกำไรในบอนด์ระยะสั้น บางวันนักลงทุนซื้อบอนด์ 2 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากผ่อนคลายล็อกดาวน์ นักลงทุนมองเงินบาทน่า จะแข็งค่า 32.25 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จึงเริ่มเห็นการขายทำกำไรบอนด์ระยะสั้นวันละ 2,000-3,000 ล้านบาท

 “หลังจากนี้โฟลว์ที่เข้ามาเก็งกำไรเท่าไร ก็จะไหลออกเท่านั้น หากแนวโน้มจะเกิดการระบาดระลอกใหม่ อาจจะเห็นเงินบาทเคลื่อนไหวที่ระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ” นายพูน กล่าว

 

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยกล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทย 115,000 ล้านบาท จากการคลายความกังวลธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และจะมีการปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (คิวอี) ส่งผลให้เงินไหลกลับเข้ามาอีกครั้ง ซึ่งในระยะต่อไปยังต้องติดตามความชัดเจนของเวลาที่จะลดคิวอี และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่า จะยังไม่ปรับขึ้นในปีนี้

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

อย่างไรก็ตาม การไหลกลับเข้ามาของกระแสเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการเข้าซื้อจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคม  ซึ่งมีส่วนหนึ่งเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะสั้นจากการที่นักลงทุนจะได้กำไรจากค่าเงิน แต่ส่วนใหญ่ยังคงเข้าซื้อในตราสารหนี้ระยะยาว จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เริ่มคลี่คลาย นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังต้องติดตามปัจจัยในประเทศ จากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลในการกู้เงินต่างๆ โดยจะมีผลกับอัตราผลตอบแทนระยะยาว

 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,714 วันที่ 16 - 18 กันยายน พ.ศ. 2564